Impostor Syndrome เป็นภาวะที่บุคคลหนึ่งไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองและมักตั้งคำถามกับความสำเร็จที่ตัวเองได้รับ จึงตั้งมาตรฐานของตัวเองไว้สูงมากและพยายามทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดความกดดันในการทำงานและการใช้ชีวิต และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ทั้งนี้ Impostor Syndrome ไม่ได้จัดเป็นโรคและความเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความเครียด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งการทำงาน การทำสิ่งที่ตัวเองรัก และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แล้วอาการของ Impostor Syndrome เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร และรับมือได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้
ลักษณะนิสัยของคนที่เป็น Impostor Syndrome
ผู้ที่เป็น Impostor Syndrome มีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีลักษณะรักในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) บางคนชอบทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง และบางคนทุ่มเทอย่างหนักกับทุกหน้าที่ที่ตัวเองได้รับ ซึ่งหากทำไม่สำเร็จก็จะโทษตัวเองและคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ
โดยทั่วไป ผู้ที่เข้าข่าย Impostor Syndrome มักมีความคิดและความเชื่อดังนี้
- คิดว่าตัวเองไม่ควรได้รับความสำเร็จ แม้จะได้รับคำชื่นชมจากคนอื่น ๆ คนกลุ่มนี้มักคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความโชคดีและยกความดีความชอบให้กับคนที่ช่วยเหลือมากกว่าที่จะเห็นคุณค่าในตัวเอง
- คิดว่าความสำเร็จไม่ใช่เรื่องสำคัญที่น่ายินดี เพราะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้
- รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
- กลัวคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองไม่เก่งจริง จึงพยายามปิดบังความรู้สึกและชดเชยด้วยการทำงานหนักขึ้น
- แม้จะเกิดความผิดพลาดเล็กน้อย แต่รู้สึกว่าตัวเองขาดความรู้ความสามารถ
ผู้ที่มีภาวะ Impostor Syndrome มักมีความมั่นใจในตัวเองและการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง และนำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางกายและทางจิตใจจากความเครียดและความวิตกกังวลได้
Impostor Syndrome เกิดจากอะไร
Impostor Syndrome อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น
- บุคลิกส่วนตัว โดยอาจพบในผู้มีปัญหาในการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) คนที่ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ คนที่ขาดความทะเยอะทะยานและไม่สามารถทำตามแบบแผนที่ถูกกำหนดได้ หรือบางครั้งอาจพบในคนที่มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ต้องการจะรู้สึกไม่พอใจและโทษตัวเอง
- การเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก เช่น ความกดดันในการเรียน การถูกเปรียบเทียบกับลูกพี่ลูกน้อง ครอบครัวที่ควบคุมการใช้ชีวิต และครอบครัวที่ปกป้องดูแลลูกมากเกินไป
- ปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้สภาพจิตใจของบุคคลนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดความสงสัยในตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองลดลง และกังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองไม่ดี
รับมืออย่างไรเมื่อเข้าข่าย Impostor Syndrome
Impostor Syndrome เป็นภาวะที่สามารถรับมือได้ โดยอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดด้วยวิธีดังนี้
- Impostor Syndrome เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง ข้อผิดพลาดและความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
- ประเมินตัวเองข้อดีข้อด้อยของตัวเอง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น
- ชื่นชมความสำเร็จของตัวเองบ่อย ๆ เช่น นึกถึงผลงานที่ตัวเองทำได้ดี และคำชมเชยที่ได้รับจากหัวหน้างาน
- พ่อแม่ควรชื่นชมของลูกโดยให้ความสำคัญกับความพยายามมากกว่าการชมว่าเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีคุณค่า และสอนให้ลูกรู้จักรับมือกับความผิดหวังได้ด้วยตัวเอง
- ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ เพราะทุกคนมีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบจะยิ่งทำให้ความมั่นใจในตัวเองลดลง
- ปรึกษาคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น และอาจได้คำแนะนำในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
แม้ Impostor Syndrome ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพในระยะยาว การปรับเปลี่ยนความคิดแง่ลบให้เป็นพลังบวกด้วยการเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และยอมรับความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แต่หากรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยตัวเอง การปรึกษาแพทย์อาจเป็นวิธีที่ช่วยปรับความคิดและทัศนคติต่อตัวเองให้ดีขึ้น