ถ่ายเหลวสีเขียว คืออุจจาระที่มีลักษณะไม่เป็นก้อน อาจมีน้ำปนปริมาณมาก หรือเป็นฟอง และมีสีออกเขียว ถ่ายเหลวสีเขียวอาจเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร หรือการใช้ยาบางชนิด ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรืออาจเป็นอาการป่วยบางอย่างก็ได้ เช่น อาหารเป็นพิษ ผู้ที่ถ่ายเหลวสีเขียวจึงควรหาสาเหตุของอาการ เพื่อบรรเทาอาการให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างเหมาะสม
ท้องเสียเป็นอาการป่วยที่พบได้บ่อย เป็นอาการที่ลำไส้ดูดซึมน้ำได้น้อย ทำให้อุจจาระมีน้ำปนปริมาณมาก รวมถึงอาจมีอาการท้องอืดร่วมด้วย ท้องเสียมักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหาร ติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ส่วนใหญ่อาการท้องเสียมักหายได้เองใน 1 หรือ 2 วัน
ถ่ายเหลวสีเขียวเกิดจากอะไรได้บ้าง
ถ่ายเหลวสีเขียว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และบางกรณีอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้ เช่น กินอาหารที่มีสีเขียว และท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียในอาหารร่วมด้วย จึงทำให้ถ่ายเหลวสีเขียว
อาการถ่ายเหลวสีเขียวอาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
1. อาหารบางชนิด
อาหารบางชนิดอาจส่งผลให้อุจจาระเป็นสีเขียวได้ เช่น ชาเขียว ผักที่มีคลอโรฟิลล์อย่างคะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ รวมถึงอาหารที่มีสีน้ำเงินหรือม่วง ไม่ว่าจะเป็นสีจากธรรมชาติหรือสีผสมอาหาร นอกจากนี้ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายบางชนิด อาจส่งผลให้ทั้งถ่ายเหลวและอุจจาระเป็นสีเขียวได้ เช่น กาแฟ แอลกอฮอล์ และอาหารรสเผ็ด
อาการถ่ายเหลวสีเขียวจากการรับประทานอาหารนั้นไม่เป็นอันตราย เมื่อหยุดรับประทาน อาการจะกลับมาเป็นปกติได้เองใน 1–2 วันหลังมีอาการ
2. การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด อาจเข้าไปเปลี่ยนหรือรบกวนระบบย่อยอาหารได้ เช่น ยาระบาย ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ท้องเสีย อาหารเสริมธาตุเหล็ก และยาคุมกำเนิดบางชนิด ดังนั้น ผู้ที่ถ่ายเหลวสีเขียวหลังจากเริ่มใช้ยาหรืออาหารเสริมใด ๆ อาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อตรวจสอบว่าอาการถ่ายเหลวสีเขียวเป็นผลข้างเคียงปกติจากยาหรือไม่ และควรรับมือกับอาการถ่ายเหลวสีเขียวได้อย่างไรบ้าง
3. อาหารเป็นพิษ
ถ่ายเหลวสีเขียวอาจเป็นอาการของอาหารเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย เชื้อปรสิต หรือไวรัสในอาหาร ผู้ป่วยที่อาหารเป็นพิษอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น เวียนหัว อ่อนเพลีย และมีเหงื่อออกมาก ผู้ที่อาหารเป็นพิษจึงควรจิบน้ำเรื่อย ๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป งดการรับประทานอาหารในช่วง 2–3 ชั่วโมงแรงหลังมีอาการ ควรพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย อาการมักจะดีขึ้นใน 1 สัปดาห์
4. ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิด
เมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ (Food intolerance) เช่น อาหารที่ทำจากนมวัว หรือมีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือกลูเตน ร่างกายจะเร่งระบบย่อยอาหารให้เร็วขึ้นเพื่อกำจัดอาหารชนิดนั้น ๆ ออก จึงอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวสีเขียว โดยอาจปวดท้อง ท้องอืด และคลื่นไส้ร่วมด้วย ผู้ที่ร่างกายย่อยอาหารบางชนิดไม่ได้จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อให้อาการกลับมาเป็นปกติ
5. น้ำดีในลำไส้
น้ำดีคือของเหลวสีเขียวเหลือง ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในถุงน้ำดีและถูกปล่อยออกมาเพื่อช่วยย่อยไขมัน เมื่อท้องเสีย หรือระบบย่อยถูกเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น อาจทำให้อุจจาระเป็นสีเขียวได้ เนื่องจากสีเขียวที่หลงเหลือจากน้ำดี ส่วนใหญ่มักจะถ่ายเหลวมาก แต่มักจะไม่เป็นอันตราย อาการมักจะกลับมาเป็นปกติใน 1–2 วัน
6. เชื้อแบคทีเรีย C. difficile
ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ อาจถ่ายเหลวสีเขียวเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า C. difficile ได้ ซึ่งทำให้มีอาการปวดท้อง และท้องเสีย 3 ครั้งขึ้นไปในวันเดียว และมักมีอาการนานกว่า 1 วัน โดยหากอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไข้ขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะขาดน้ำ ท้องป่อง อุจจาระมีเลือดปน ควรพบแพทย์ทันที
7. การผ่าตัดถุงน้ำดี
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออก อาจทำให้ท้องเสียจากกรดน้ำดีที่หลั่งออกมามากเกินไป ทำให้ถ่ายเหลวเป็นฟองสีเขียวหรือเหลือง รู้สึกระคายเคืองทวารหนัก และอาจอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องผูกร่วมด้วย
ขณะที่มีอาการ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงของหวาน ของทอด คาเฟอีน และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง และอาจใช้ยาแก้ท้องเสียเพื่อบรรเทาอาการ หากอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์
8. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ ทำให้เกิดอาการอักเสบ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย โดยอาจขับถ่ายเหลวสีเขียว ปวดเกร็งท้อง รู้สึกอ่อนเพลีย อุจจาระมีเลือดปน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคดังกล่าว และกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ หรือใช้ยากลุ่มเอ็นเสดบางชนิด
ในหลายกรณี อาการถ่ายเหลวสีเขียวมักหายได้เอง บางกรณีอาจต้องบรรเทาอาการร่วมอื่น ๆ แต่หากอาการรุนแรงมาก หรือท้องเสียมากกว่า 3 วัน แม้ว่าอุจจาระจะเป็นสีเขียวหรือไม่ก็ตาม ควรหาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อรักษาและบรรเทาอาการได้อย่างเหมาะสม แต่หากมีภาวะขาดน้ำ อาเจียนมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเหลวเป็นเลือด อาจเป็นอันตราย จึงควรพบแพทย์ทันที