DSM-5 เป็นคำย่อของคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นคู่มือจิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ใช้ในอ้างอิงและวินิจฉัยภาวะความผิดปกติทางจิตของผู้ป่วย โดยคู่มือนี้รวบรวมและเผยแพร่โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association)
คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตฉบับแรกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2495 จากนั้นได้มีการรวบรวมและแก้ไขข้อมูลเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในคู่มือให้ตรงกับงานวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา โดยในปี พ.ศ. 2556 สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์เผยแพร่ DSM-5 ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยนิยาม อาการของโรค และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้วินิจฉัยอาการทางจิต
กว่าจะมาเป็น DSM-5
แต่เดิมนั้น การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชจะใช้ข้อมูลตามบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องหรือ ICD โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รวบรวมรายละเอียดของโรคและการบาดเจ็บต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางจิต รวมทั้งสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั่วโลก
ต่อมาสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาเห็นว่า ICD ยังขาดรายละเอียดและสถิติจำเพาะของโรคทางจิตเวช จึงจัดพิมพ์ DSM ฉบับแรกหลังจากองค์การอนามัยโลกตีพิมพ์ ICD ฉบับที่ 6 เพื่อใช้เป็นคู่มือในการวินิจฉัยและอ้างอิงโรคทางจิตเวชโดยเฉพาะ
DSM-5 เป็นคู่มือวินิจฉัยอาการทางจิตเวชฉบับล่าสุดที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2556 โดยปรับปรุงข้อมูลจาก DSM-4 ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งในการปรับปรุงข้อมูลครั้งนี้ยังคงเค้าโครงเนื้อหาจากคู่มือฉบับเดิมไว้ แต่ปรับระบบการวินิจฉัยโรคแบบหลายแกน (Multiaxial Diagnosis) โดยตัดข้อมูลบางส่วนออกและจัดรวมใหม่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน นอกจากนี้ ใน DSM-5 ยังเพิ่มคำอธิบายเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติทางจิตบางประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แม้ DSM-5 เป็นคู่มือที่จิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างกว้างขวางในการวินิจฉัยและอ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต แต่บุคคลทั่วไปที่สนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการทางจิตเวชสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้เช่นกัน
องค์ประกอบและหมวดหมู่ใน DSM-5
DSM-5 ประกอบด้วย 3 หมวดหมู่และภาคผนวก ซึ่งในแต่ละหมวดหมู่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรค การวินิจัย และสถิติต่าง ๆ ดังนี้
หมวดหมู่ที่ 1 พื้นฐานของ DSM-5
ในหมวดหมู่ประกอบด้วยบทนำ วิธีใช้คู่มือ และคำเตือนในการใช้ DSM-5 ในงานนิติเวช
หมวดหมู่ที่ 2 หลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรค
หมวดหมู่นี้มีเนื้อหามากที่สุด โดยได้จำแนกโรคทางจิตเวชออกเป็น 20 กลุ่ม และในแต่ละกลุ่มจะแยกย่อยเป็นภาวะผิดปกติทางจิตต่าง ๆ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่ง 20 กลุ่มโรคที่ระบุใน DSM-5 มีดังนี้
- ความผิดปกติของพัฒนาการด้านสติปัญญา (Neurodevelopmental Disorders)
- โรคจิตเภทและโรคจิตอื่น ๆ (Schizophrenia Spectrum and Other Psychotic Disorders)
- ไบโพลาร์และความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง (Bipolar and Related Disorders)
- กลุ่มโรคซึมเศร้า (Depressive Disorders)
- กลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety Disorders)
- กลุ่มโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นหรือมีพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ และความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง (Obsessive-Compulsive and Related Disorders)
- กลุ่มโรคที่เกิดจากความกดดันทางจิตใจ (Trauma- and Stressor-Related Disorders)
- กลุ่มโรคบุคลิกภาพแตกแยก (Dissociative Disorders)
- กลุ่มอาการโซมาติกและความผิดปกติที่เกี่ยวข้อง (Somatic Symptoms and Related Disorders)
- ภาวะผิดปกติในพฤติกรรมการกิน (Feeding and Eating Disorders)
- กลุ่มอาการผิดปกติของการขับถ่าย (Elimination Disorders)
- ภาวะผิดปกติในการนอนหลับ (Sleep-Wake Disorders)
- กลุ่มโรคที่มีความบกพร่องในการตอบสนองทางเพศหรือการมีความสุขทางเพศ (Sexual Dysfunctions)
- ภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria)
- กลุ่มอาการผิดปกติในควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม (Disruptive, Impulse Control, and Conduct Disorders)
- กลุ่มผู้มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด (Substance-Related and Addictive Disorders)
- กลุ่มภาวะผิดปกติด้านความทรงจำ (Neurocognitive Disorders)
- กลุ่มภาวะผิดปกติด้านบุคลิกภาพ (Personality Disorders)
- โรคกามวิปริต (Paraphilic Disorders)
- โรคอื่น ๆ (Other Disorders)
นอกจากนี้ ยังมี 2 หมวดหมู่พิเศษที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรคและผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา อาการและปัญหาอื่น ๆ ที่อาจพบในการตรวจรักษา
หมวดหมู่ที่ 3 การพัฒนาการวัดผลและแม่แบบ
หมวดหมู่นี้ประกอบด้วยการวิเคราะห์การประยุกต์ใช้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสุขภาพจิต และเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่การจำแนกประเภทการวินิจฉัยโรค
ภาคผนวก
ส่วนสุดท้ายใน DSM-5 เป็นส่วนที่รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงเนื้อหาจาก DSM-4 นิยามศัพท์เฉพาะ รายชื่อคณะกรรมการผู้พิจารณาและตรวจสอบเนื้อหาใน DSM-5 เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ
DSM-5 เป็นคู่มือที่รวบรวมนิยาม ลักษณะอาการ และหลักการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ซึ่งช่วยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยมีความถูกต้อโดยใช้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติใด ๆ ไม่ควรสันนิษฐานและวินิจฉัยโรคด้วยตัวเอง เพราะการตรวจและรักษาโรคทางจิตเวชควรให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง