รู้จักกับประโยชน์ของมัทฉะ ชาในดวงใจสำหรับใครหลายคน

มัทฉะเป็นหนึ่งในวัตถุดิบยอดนิยมที่มักนำมาผสมอยู่ในขนมหวานหรือเครื่องดื่มมากมาย นอกจากรสชาติที่ถูกปาก หรือความรู้สึกสดชื่นหลังรับประทานหรือดื่ม มัทฉะยังให้คุณค่าทางสารอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

มัทฉะเป็นชาที่ได้จากการนำใบชาไปผ่านกระบวนการอบไอน้ำ อบแห้ง และนำมาบดให้เป็นผง จากนั้นจะนำผงใบชาทั้งหมดไปผสมในน้ำร้อน การดื่มมัทฉะจึงเหมือนเป็นการรับประทานใบชาทั้งใบ ในขณะที่การชงชาทั่วไปมักจะเป็นการนำใบชาไปต้มในน้ำร้อนและให้ดื่มเฉพาะส่วนของน้ำชา หากเทียบกับการดื่มชาชนิดอื่น ๆ การดื่มหรือรับประทานมัทฉะจึงให้คุณค่าทางสารอาหารที่มากขึ้น

รู้จักกับประโยชน์ของมัทฉะ ชาในดวงใจสำหรับใครหลายคน

ประโยชน์ของการบริโภคมัทฉะ

นอกจากรสชาติที่หลายคนถูกปากแล้ว มัทฉะยังมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในหลายด้าน เช่น

1. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด

มัทฉะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย โดยเฉพาะสารกลุ่มคาเทชิน (Catechins) ซึ่งเป็นสารที่อาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ระดับคอเสสเตอรอลโดยรวม ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) การอักเสบภายในร่างกาย และความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด

นอกจากนี้ งานศึกษาบางชิ้นพบว่าการบริโภคมัทฉะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ภาวะหัวใจขาดเลือด (Myocardial Infarction) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และอาจช่วยควบคุมระดับเอนไซม์ตับในผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

2. ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว

การบริโภคมัทฉะในรูปแบบของเครื่องดื่มและอาหาร อาจช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวได้ เนื่องจากใบชาที่นำมาทำเป็นผงมัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนที่ค่อนข้างสูง และยังมีสารแอล–ธีอะนีน (L–theanine) ที่อาจช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ควบคุมความเครียด บรรเทาอาการอ่อนเพลียที่อาจเกิดขึ้นหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 

โดยมีงานวิจัยพบว่าการได้รับสารแอล–ธีอะนีนร่วมกับคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้ร่างกายตื่นตัวและทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรควบคุมปริมาณการบริโภคหรือดื่มมัทฉะให้เหมาะสม โดยจำกัดปริมาณการดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน (474 มิลลิลิตร) และหลีกเลี่ยงการดื่มมัทฉะใกล้เวลาเข้านอนหรือห่างจากเวลาเข้านอนประมาณ 6 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับได้

3. ดีต่อสุขภาพช่องปาก

ชาเขียวเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งในกลุ่มคาเทชินที่ชื่อว่า EGCG หรือสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (Epigallocatechin Gallate) ซึ่งเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพในช่องปาก เนื่องจากสารนี้จะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดคราบพลัคสะสมจนอาจนำไปสู่ปัญหาฟันผุตามมา

นอกจากนี้ สาร EGCG ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในช่องปากด้านอื่นด้วย เช่น ลดการสะสมของสารประกอบซัลเฟอร์ภายในช่องปากที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหากลิ่นปาก และอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) 

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคมัทฉะจะดีต่อสุขภาพ แต่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สะอาด น่าเชื่อถือ บริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ และควบคุมปริมาณน้ำตาลที่มักถูกนำมาปรุงรสร่วมกับมัทฉะเพื่อเพิ่มความน่ารับประทานให้เหมาะสมด้วย นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กบริโภค เนื่องจากใบชาที่ถูกนำมาทำเป็นผงมัทฉะอาจมีสารปนเปื้อนหรือสารอาหารบางอย่างที่มากเกินพอดีจนส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือเป็นพิษต่อตับและไตได้ 

การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น นอกจากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์แล้ว ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น รับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น