รู้จักกับอาการแพ้กัญชา แพ้แล้วทำอย่างไร

ทุกคนมีโอกาสแพ้กัญชาได้ เนื่องจากกัญชาจัดเป็นสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแปลกปลอม (Allergen) ชนิดหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เช่นเดียวกับละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น หรืออาหารบางชนิด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นอาการแพ้ตามมานั่นเอง

อาการแพ้กัญชาในที่นี้ไม่ใช่อาการข้างเคียงจากการใช้กัญชาแบบที่หลายคนเข้าใจกัน เช่น ง่วงนอนมาก สับสน วิตกกังวล เวียนศีรษะ ปากหรือคอแห้ง คลื่นไส้หรืออาเจียน แต่อาการจะเหมือนกับโรคภูมิแพ้ที่แสดงเป็นอีกลักษณะหนึ่ง  

รู้จักกับอาการแพ้กัญชา แพ้แล้วทำอย่างไร

นอกจากนี้ คนที่แพ้กัญชาก็มีโอกาสที่จะแพ้กัญชงและผลิตภัณฑ์ที่มีในกัญชาอย่าง THC รวมอยู่ด้วย อีกทั้งกัญชายังมีโครงสร้างโปรตีนที่คล้ายคลึงกับอาหารบางชนิด เช่น มะเขือเทศ ลูกพีช กล้วย อัลมอนด์ และเกาลัด จึงอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ข้ามกันได้ (Cross-Reactivity) และหากเราแพ้อาหารเหล่านี้ก็เสี่ยงที่จะแพ้กัญชาไปด้วย 

แพ้กัญชามีอาการอะไรบ้าง

หลังการปลดล็อกกัญชาจะเห็นได้ว่ากัญชานั้นถูกนำไปใช้ประกอบอาหารคาวหวาน และเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมในหลายรูปแบบ รวมถึงใช้ในทางการแพทย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินข่าวหรือพบข้อมูลการแพ้กัญชามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาการแพ้กัญชานั้นเกิดได้ทั้งจากการบริโภค การหายใจ รวมถึงการสัมผัสกับกัญชา  

แพ้กัญชาจากการบริโภค

คนไทยจำนวนไม่น้อยนำกัญชาส่วนที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดมาบริโภคในรูปอาหาร อาหารเสริม หรือใช้เป็นยารักษาโรคตามความเชื่อ จึงมีโอกาสแพ้กัญชาและส่งผลให้เกิดอาการ เช่น    

  • ตาแดงหรือตาบวม
  • เกิดผื่นหรือผื่นลมพิษ 
  • ผิวหนังบวมแดง
  • หายใจไม่อิ่ม
  • พูดคุยหรือสื่อสารได้ลำบาก
  • อาเจียน หรือท้องเสีย

นอกจากนี้ การบริโภคกัญชาและเมล็ดกัญชงอาจนำไปสู่อาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน อย่างแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) หรือภาวะช็อกจากอาการแพ้ (Anaphylactic Shock) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจและระดับความดันโลหิตจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่คนที่มีผลข้างเคียงรุนแรงขนาดนี้พบได้น้อยมาก 

แพ้กัญชาจากการหายใจ 

การสูบกัญชา และการสูดดมละอองเกสรของกัญชา ฝุ่นจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์จากกัญชา หรือแม้กระทั่งควันกัญชามือสองอาจทำให้แพ้กัญชาจนเกิดอาการต่อไปนี้ได้ 

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ไอ จาม
  • เจ็บคอ คันคอ
  • ตาแดง คันตา หรือน้ำตาไหล
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และมีอาการคล้ายหอบหืด

นอกเหนือจากการบริโภคและหายใจแล้ว การสัมผัสกับกัญชาก็อาจทำให้แพ้กัญชาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เกิดผื่นผิวหนัง ผิวแดงและอักเสบ คัน ลมพิษ รวมถึงอาการบวมของเนื้อเยื่อใต้ชั้นผิวหนังที่เรียกกันว่า แองจีโออีดีมา (Angioedema)   

แพ้กัญชาทำอย่างไร ป้องกันได้ไหม

หากเราแพ้กัญชา เสี่ยงต่อการแพ้กัญชา หรือไม่อยากแพ้กัญชา การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกัญชาทุกชนิด ผู้ที่ใช้สารสกัดกัญชาตามคำสั่งแพทย์แล้วพบอาการแพ้หลังใช้กัญชา ควรปรึกษาแพทย์ถึงแผนการรักษาอีกครั้ง

ในส่วนของอาหารคาวหวานที่เราซื้อมารับประทานอาจต้องสอบถามผู้ขายก่อนซื้อมาบริโภคว่ามีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ เนื่องจากบางร้านอาจไม่ได้แจ้งส่วนผสมที่ใช้อย่างละเอียด จึงอาจทำให้เราเผลอรับประทานโดยไม่ตั้งใจ

สำหรับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกัญชา แนะนำให้สวมชุดป้องกัน ถุงมือ แว่นตานิรภัย หรือหน้ากากอนามัยในระหว่างการทำงาน เพื่อป้องกันการสัมผัสกัญชาหรือสูดดมละอองเกสรกัญชาให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากร่างกายเกิดแพ้กัญชาขึ้นมา ผู้ป่วยควรหยุดใช้กัญชาแล้วไปพบแพทย์หรือเภสัชกรทันที ซึ่งมักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้หรือยาแก้คัดจมูก เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น ในกรณีที่อาการแพ้ไม่หายไปหรือพบอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน เช่น หายใจลำบาก เวียนศีรษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที