รู้จักการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ข้อดีและข้อควรระวังก่อนเข้ารับการตรวจ

การอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการตรวจดูลูกน้อยในครรภ์ แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงอาจทำให้คุณแม่เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คุณแม่ควรศึกษาความแตกต่างของการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติกับการอัลตร้าซาวด์ชนิดอื่น ๆ และข้อควรระวังก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงทั้งต่อตัวเองและต่อลูกน้อย

การตรวจอัลตร้าซาวด์คือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อแสดงภาพทารกในครรภ์ เป็นวิธีการตรวจที่ช่วยให้แพทย์และคุณแม่ทราบพัฒนาการของลูกน้อยขณะอยู่ในครรภ์ได้ การอัลตร้าซาวด์มักจะทำในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และสามารถบอกได้หลายอย่าง เช่น อายุครรภ์ของคุณแม่ เพศของเด็กทารก รวมถึงสัญญาณความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กทารกด้วย

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ทางเลือกใหม่สำหรับคุณแม่ในการอัลตร้าซาวด์

โดยปกติการตรวจอัลตร้าซาวด์จะเป็นการอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ ซึ่งจะแสดงภาพทารกในครรภ์ในลักษณะของภาพขาวดำที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนมากนัก แต่ก็สามารถทราบรายละเอียดต่าง ๆ ผ่านการอัลตร้าซาวด์ได้ เช่น อายุครรภ์ ความผิดปกติภายในมดลูก จำนวนของทารกในกรณีที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด เพศของทารก เสียงการเต้นของหัวใจทารก รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกด้วย

แต่ในปัจจุบันได้มีการอัลตร้าซาวด์ 3 มิติและการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติขึ้น โดยการอัลตร้าซาวด์ 3 มิติจะแสดงภาพนิ่งของทารกที่มีรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจนและสมจริงมากยิ่งขึ้นคล้ายกับภาพถ่าย ส่วนการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติจะแสดงภาพคล้ายวิดีโอที่มีความละเอียดต่ำ ทำให้สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของทารก เช่น การขยับร่างกาย หรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ด้วย

ประโยชน์ของการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

เนื่องจากการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติจะมีลักษณะเป็นภาพเคลื่อนไหว จึงอาจช่วยให้ทั้งคุณแม่และแพทย์ผู้ดูแลสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสภาวะครรภ์ของคุณแม่ และพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกได้มากขึ้น ดังนี้

สามารถเห็นรายละเอียดของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนขึ้น

การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติสามารถช่วยให้คุณแม่มองเห็นการแสดงออกทางสีหน้าต่าง ๆ ของทารกในครรภ์อย่างละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลืมตา การกะพริบตา การอ้าปาก การยิ้ม การหาว หรือการแลบลิ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถเห็นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายในรูปแบบของภาพเคลื่อนไหว เช่น การทำงานของผนังหัวใจหรือลิ้นหัวใจของทารก ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าอวัยวะเหล่านี้ทำงานได้อย่างเป็นปกติหรือไม่

อาจช่วยให้ทราบความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

ความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างสามารถทราบได้จากการอัลตร้าซาวด์ โดยเฉพาะเมื่อตรวจด้วยวิธีการอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ เพราะจะช่วยให้มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า แขนขา การทำงานของหัวใจ ท่อประสาท และโครงกระดูก

ตัวอย่างความผิดปกติที่อาจทราบได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยแพทย์จะทราบจากการได้เห็นลักษณะของใบหน้าและการเคลื่อนไหวใบหน้าของทารกอย่างชัดเจนขณะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ และช่วยให้แพทย์สามารถเตรียมแผนการรักษาหลังจากการคลอดได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

ข้อควรรู้ก่อนเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

ก่อนเข้ารับการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ มีสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทราบ ดังนี้

  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติจะทำในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ หรือช่วงที่อายุครรภ์ประมาณ 27–32 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่อาจได้เห็นใบหน้าของทารกอย่างชัดเจนที่สุด
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติควรเลือกทำในโรงพยาบาลที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการอัลตร้าซาวด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมา
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติมีราคาค่อนข้างสูง และอาจไม่ได้มีความจำเป็นมากเท่ากับการตรวจอัลตร้าซาวด์ปกติในกรณีที่ทารกไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติใด ๆ ดังนั้น จึงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจเท่านั้น 

แม้ว่าการทำอัลตร้าซาวด์ 4 มิติจะค่อนข้างปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งต่อตัวคุณแม่เองและต่อทารกในครรภ์ แต่คุณแม่ก็ควรศึกษาข้อควรระวังอย่างถี่ถ้วน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย