คงไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ทุกคู่ที่จะรู้จักกับภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด และรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างง่ายดาย หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะมีเจ้าตัวน้อย นี่อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเรียนรู้และเข้าใจภาวะตัวเหลือง รวมทั้งวิธีดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้องและปลอดภัย
จริง ๆ แล้วภาวะตัวเหลือง (Jaundice) ในทารกแรกเกิดเป็นเรื่องปกติ แต่คงไม่ใช่เรื่องปกติในความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ที่เต็มไปด้วยความกังวลและเป็นห่วงลูก บทความนี้จึงจะมาช่วยเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดให้มากยิ่งขึ้น
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นอย่างไร
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดหรือรู้จักกันในอีกชื่อว่าดีซ่าน เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายต่อทารก โดยอาการหลักของภาวะนี้คือ ผิวหนังและตาขาวมีสีเหลืองโดยเฉพาะในช่วง 2–4 วันแรกหลังคลอด
รวมถึงอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเป็นสีเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มซึ่งปกติควรเป็นสีใส หรืออุจจาระมีสีซีดซึ่งปกติควรจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม อย่างไรก็ตาม ทารกส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์โดยไม่ต้องรักษา
ดีซ่านหรือภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เป็นผลมาจากสารบิลิรูบิน (Bilirubin) หรือสารที่ให้สีเหลืองในเลือดมีปริมาณมากเกินไป เนื่องมาจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในร่างกาย ในขณะเดียวกันตับของทารกก็ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงไม่อาจกรองสารบิลิรูบินในเลือดได้อย่างรวดเร็วหรือมีประสิทธิภาพนัก
นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะตัวเหลืองในทารกที่ผิดปกติได้เช่นกัน เช่น เลือดออกภายในร่างกาย การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ตับทำงานผิดปกติ ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) หรือทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ
โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการตัวเหลืองที่ผิดปกติได้จากสัญญาณเตือนบางอย่าง เช่น อาการเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดหรืออาการที่คงอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ ตัวเหลืองร่วมกับมีไข้ หายใจลำบาก ป้อนนมลำบาก หรือชัก
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด พ่อแม่รับมืออย่างไร
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่ไม่รุนแรงมักหายไปเองใน 1–2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้คุณแม่ควรป้อนนมแม่ให้ลูกวันละ 8–12 ครั้งหลังแรกคลอด หรือป้อนนมผงปริมาณ 30–60 มิลลิลิตร ทุก 2–3 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
ในกรณีที่มีข้อสงสัยในการดูแลและให้นมลูกหรือทารกตัวเหลืองยิ่งขึ้น สามารถปรึกษากุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ควรสังเกตอาการของทารกและตรวจดูสีของผิวหนังโดยใช้นิ้วกดเบา ๆ บนปลายจมูกหรือหน้าผาก สีดวงตา สีปัสสาวะและอุจจาระอยู่เสมอ
หากพบอาการที่รุนแรงของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด หรือภาวะแทรกซ้อนจากระดับสารบิลิรูบินในเลือดที่มากเกินไป เช่น ผิวหนังมีสีเหลืองมากขึ้น ลูกดูป่วยหรือตื่นยาก ไม่ยอมกินนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น ร้องเสียงแหลม หรือพบอาการใด ๆ ที่สร้างความกังวลแก่คุณพ่อคุณแม่ ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว