ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั่วโลกกำลังคิดค้นและผลิตยาที่ช่วยต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ แม้ในเวลานี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาตัวใดที่ใช้รักษาได้โดยตรง แต่หลายประเทศได้ทดลองนำยารักษาโรคอื่นที่มีความใกล้เคียงกันมาใช้รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 กันอยู่
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยมีการพบการติดเชื้อในคนมาก่อน จึงยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาที่ได้รับการรับรองว่าได้ผลแน่นอน ในระหว่างนี้ การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงควบคุมการติดต่อของโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้มีการคัดเลือกยาบางกลุ่มที่คาดว่าอาจใช้รักษาโรคนี้ได้ผลและนำมาทดสอบประสิทธิภาพของยาอย่างต่อเนื่อง
ยารักษาโควิด-19 มีอะไรบ้าง ?
ในปัจจุบัน ยารักษาโควิด-19 ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับผู้ป่วย แต่มีตัวยาบางชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เช่น
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัสกลุ่มอาร์เอนเอได้หลายสายพันธุ์ จากการศึกษาในหลอดทดลองบางส่วนพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์อาจมีฤทธิ์ต้านไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่น ๆ ได้ โดยตัวยาจะไปยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์และการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส แต่ในขณะเดียวกันก็มีการทดลองในสัตว์พบว่าตัวยาสามารถถูกขับออกผ่านทางน้ำนมหรือรก จึงอาจมีผลให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในตัวอ่อนของสัตว์
ในปัจจุบัน ยาชนิดนี้ได้รับการรับรองในประเทศญี่ปุ่นและจีนเพื่อใช้สำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่ และถูกนำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบและยังไม่สามารถระบุประสิทธิภาพของตัวยาต่อโรคได้อย่างแน่ชัด
ยาคลอโรควิน (Chloroquine) และยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)
ยาคลอโรควินและยาไฮดรอกซีคลอโรควิน เป็นยาป้องกันโรคมาลาเรียและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นเวลาหลายปี ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองว่ายาทั้งสองตัวมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาได้ เนื่องจากการทดลองบางส่วนเผยว่า ยาคลอโรควินและยาไฮดรอกซีคลอโรควินสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ในระยะแรก
หลังจากนำยาทั้งสองตัวมาทดสอบประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง แต่ผลการทดลองกลับพบว่า การใช้ยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงในผู้ป่วย อีกทั้งยังไม่สามารถกำจัดหรือยับยั้งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันจึงได้หยุดทำการทดลองและไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านมาลาเรียทั้งสองตัวนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19
ยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) และยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
ยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ จัดอยู่ในกลุ่มยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยมีการนำยาสองชนิดนี้มาใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าตัวยาอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในแง่ของการช่วยบรรเทาอาการ ลดการแพร่กระจายของไวรัส และย่นระยะเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีอาการในระดับไม่รุนแรงไปจนถึงผู้ป่วยในระดับปานกลาง
ทั้งนี้ นักวิจัยคาดหวังว่าจะสามารถนำยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 เนื่องจากตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนา แต่การใช้ยาโลพินาเวียร์และยาริโทนาเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองผลในการรักษาโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
ในปัจจุบันยาเรมเดซิเวียร์กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามประเทศต่าง ๆ โดยจากการศึกษาพบว่า ยาเรมเดซิเวียร์ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) และไวรัสตับอักเสบในหนูชนิดที่ไม่พบในคน อีกทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ยาตัวนี้จึงคาดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยออกซิเจน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มียาตัวใดที่มีประสิทธิผลในการรักษาได้อย่างแน่ชัด และองค์การเภสัชกรรมยังไม่มีการรับรองยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการทดลองผล ประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา
การป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 เบื้องต้น
ในระหว่างที่การค้นคว้าและพัฒนายากำลังดำเนินไป วิธีที่จะช่วยป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยได้ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายผ่านคนสู่คนได้ โดยสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ควรทำในระหว่างที่มีการระบาดของโรค ได้แก่ ล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าหรือปากหลังจากการสัมผัสสิ่งที่อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอยู่ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกบ้าน
หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 ก็ควรจะสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและรักษาระยะห่างกับผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ ปิดปากและจมูกขณะไอหรือจามด้วยทิชชู่ เพื่อการป้องกันการแพร่เชื้อจากตนเองไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ ทุกคนควรตระหนักถึงสุขภาพของตนเองและผู้คนรอบข้างด้วยการล้างมือให้เป็นนิสัยและใส่ใจในเรื่องของสุขลักษณะและมารยาทการไอจามแม้ว่าตนเองจะไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เกิดขึ้นก็ตาม