ยาทาเชื้อรา คือยาสำหรับทาภายนอกเพื่อรักษาอาการเชื้อราบนผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก โรคสังคัง โดยการใช้ยาทาเชื้อรา ควรทาลงบนผิวหนัง เล็บ หรือหนังศีรษะที่ติดเชื้อราโดยตรง ซึ่งยาอาจออกฤทธิ์โดยการกำจัดเชื้อรา หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบริเวณที่ติดเชื้อ
การติดเชื้อรา (Fungal infection) เป็นโรคหรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งมักพบบ่อยบนร่างกายบริเวณที่มักเกิดความอับชื้นหรือเกิดการเสียดสีบ่อย โดยส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อรามักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราชนิดต่าง ๆ เช่น ยาต้านเชื้อราชนิดทา ยาต้านเชื้อชนิดรับประทาน
ยาทาเชื้อราที่ควรรู้จัก
ยาทาเชื้อราอาจนำมาใช้รักษาอาการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ เล็บ หรือผิวหนัง โดยยาทาเชื้อราอาจช่วยกำจัดเชื้อรา และยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อราชนิดนั้น ๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งยาทาเชื้อราที่มักใช้บ่อยอาจมีดังนี้
- ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
- ยาอีโคนาโซล (Econazole)
- ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ยาไมโคนาโซล (Miconazole)
- ยาไนสแตติน (Nystatin)
- ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
- ยาอะมอร์โรลฟีน (Amorolfine)
ยาทาเชื้อราเหล่านี้มักใช้ในการรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะ เชื้อราที่เล็บ และเชื้อราบนผิวหนัง เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคกลาก โรคสังคัง การติดเชื้อยีสต์บนผิวหนัง โดยส่วนใหญ่แล้ว ควรทายาต้านเชื้อราวันละ 2 ครั้งต่อวัน ประมาณ 1–4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ควรทายาต้านเชื้อราต่ออีกประมาณ 1–2 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าอาการติดเชื้อราจะดีขึ้นแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อราหยุดเจริญเติบโต และป้องกันไม่ให้การติดเชื้อรากลับมาเป็นซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ยาทาเชื้อราแต่ละชนิดอาจนำมาใช้รักษาโรคหรืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อราแตกต่างกัน ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาทาเชื้อรา
ข้อควรระวังเพื่อการใช้ยาทาเชื้อราอย่างปลอดภัย
การใช้ยาทาเชื้อราให้ปลอดภัย ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง หากเคยมีอาการแพ้ยาหลังจากทาเชื้อราชนิดใด ๆ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยา ทั้งนี้ ยาทาต้านเชื้อราเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก ไม่ควรนำเข้าปากหรือกลืน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
โดยยาทาต้านเชื้อรามักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจพบอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น
ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม หากใช้ยาทาเชื้อราแล้ว อาการติดเชื้อราไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา นอกจากนี้ หากใช้ยาทาเชื้อราแล้วมีผื่นลมพิษเกิดขึ้น ควรหยุดใช้และรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะผื่นลมพิษอาจเป็นสัญญาณของการแพ้ยาได้