คนที่มีอาการของโรคไมเกรนอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการอยู่บ่อยครั้ง แต่ยาไมเกรนมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีเงื่อนไขในการใช้ยาแตกต่างกันออกไป หากเลือกใช้ยาไมเกรนที่ไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพของตนเองหรือไม่ทราบวิธีการใช้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้
ไมเกรนจัดเป็นโรคทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบตุบ ๆ อย่างรุนแรงและเรื้อรัง โดยมักจะปวดศีรษะแค่ข้างเดียว รวมถึงมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และประสาทสัมผัสไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นร่วมด้วย อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน การใช้ยาสำหรับรักษาโรคไมเกรนจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลงได้
ข้อควรรู้ก่อนเลือกใช้ยาไมเกรน
ยาไมเกรนมีทั้งยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปและยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น การใช้ยาจึงควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ยาไมเกรนส่วนใหญ่จะพบในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทาน แต่จริง ๆ แล้วยาไมเกรนมีอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นยาฉีด ยาเหน็บ หรือยาพ่นจมูก ผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเลือกรูปแบบยาที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
นอกจากนี้ ยาไมเกรนบางชนิดอาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง และอาจไม่ปลอดภัยหากใช้ในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัว กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
ยาไมเกรนมีอะไรบ้าง แต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
ยาไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการเฉียบพลันกับยาที่ใช้สำหรับป้องกันอาการ โดยยาแต่ละกลุ่มจะแบ่งย่อยออกเป็นยาอีกหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ยาแก้ปวดทั่วไป
ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะไม่รุนแรงสามารถรับประทานยาแก้ปวดที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปได้ เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือ NSAIDs อย่างยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) ก็ได้เช่นเดียวกัน
แต่ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันนานเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาเกินขนาดได้ รวมถึงการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร และไตวายได้ด้วย
ยากลุ่มทริปแทน (Triptans)
ยากลุ่มทริปแทนจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะรุนแรงหรือเมื่อรักษาด้วยยาในกลุ่ม NSAIDs แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์เพิ่มระดับของสารเซโรโทนินในสมอง รวมถึงช่วยลดการอักเสบและการตีบตันของหลอดเลือด ทำให้อาการปวดศีรษะรวมถึงอาการไมเกรนอื่น ๆ บรรเทาลงได้อย่างรวดเร็ว
ยาในกลุ่มทริปแทนมีทั้งรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ยาเม็ดสำหรับละลายใต้ลิ้น ยาฉีด และยาพ่นจมูก เช่น ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ยาริซาทริปแทน (Rizatriptan) แต่ยาในกลุ่มนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และหากใช้ร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้าอาจทำให้เกิดอาการเซโรโทนินซินโดรม (Serotonin Syndrome) ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ยากลุ่มเออร์โกตามีน (Ergotamines)
ยากลุ่มเออร์โกตามีนเป็นยาที่ใช้รักษาโรคไมเกรนโดยเฉพาะ ตัวยาจะช่วยให้หลอดเลือดรอบสมองหดตัว ทำให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) ยาเมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) ยาเออร์โกตามีน (Ergotamine) รวมถึงมีการใช้ยาเออร์โกตามีนผสมกับคาเฟอีนเพื่อใช้ในการรักษาโรคไมเกรนด้วย
การใช้ยาในกลุ่มเออร์โกตามีนในปริมาณมากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ชาปลายมือปลายเท้า ความดันโลหิตสูง ใจสั่นและเจ็บหน้าอก และเป็นยาที่ไม่ควรใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคตับ รวมถึงหากกำลังรับประทานยาอื่นอยู่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ
ยาแก้คลื่นไส้
อาการไมเกรนที่รุนแรงมักจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย จึงอาจต้องใช้ยาแก้คลื่นไส้ร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยตัวยามักอยู่ในรูปแบบเม็ดรับประทาน เช่น ยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) ยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) หรือยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) แต่การใช้ยาแก้คลื่นไส้ก็อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมหรือวิงเวียนศีรษะได้ด้วย
ยากลุ่มโอปิออยด์
ยากลุ่มโอปิออยด์เป็นยาที่ใช้ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ เพราะเป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์รุนแรงและสามารถทำให้เกิดอาการเสพติดได้ โดยจะใช้รักษาโรคไมเกรนเฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยยากลุ่มอื่นได้เท่านั้น ยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) ยามอร์ฟีน (Morphine) และยาออกซิโคโดน (Oxycodone)
นอกเหนือจากการใช้ยาไมเกรน ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการไมเกรนให้ดีขึ้นได้ เช่น งีบหลับในสภาพแวดล้อมที่เงียบ มืด และเย็น ประคบเย็นบริเวณหน้าผาก หรือนวดบริเวณขมับ อย่างไรก็ตาม หากอาการไมเกรนยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม