เมื่อพูดถึงระบบขับถ่าย หลายคนมักนึกถึงการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ความจริงแล้วระบบขับถ่ายเป็นระบบกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วนที่ทำหน้าที่ขับของเสียในรูปแบบที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น การขับเหงื่อผ่านทางผิวหนัง การขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการหายใจออก การถ่ายปัสสาวะผ่านระบบขับถ่ายปัสสาวะ และการถ่ายอุจจาระผ่านระบบย่อยอาหาร โดยบทความนี้จะพูดถึงการทำงานของระบบขับถ่ายปัสสาวะและการขับถ่ายอุจจาระ และวิธีดูแลระบบขับถ่ายให้ทำงานเป็นปกติ
ระบบขับถ่ายทำงานอย่างไร
ระบบขับถ่ายปัสสาวะทำหน้าที่กรองของเสียที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายออกจากเลือด และกำจัดน้ำ เกลือ และสารพิษในร่างกายในรูปปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ ดังนี้
- ไตมี 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลังช่องท้องใต้ซี่โครง มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วแดง ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดและสร้างปัสสาวะ
- ท่อไตเป็นท่อที่ต่อออกมาจากไตทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ลำเลียงปัสสาวะจากไตลงมาที่กระเพาะปัสสาวะ
- กระเพาะปัสสาวะเป็นที่พักปัสสาวะ มีรูปร่างคลายบอลลูน และสามารถขยายตัวได้ โดยปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะสามารถเก็บปัสสาวะได้ประมาณ 350–500 มิลลิลิตร แต่เราจะเริ่มรู้สึกปวดปัสสาวะเมื่อมีปัสสาวะอยู่ 200–350 มิลลิลิตร ขณะที่เราถ่ายปัสสาวะ กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัว ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดเปิดออก เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกไปยังท่อปัสสาวะได้
- ท่อปัสสาวะเป็นท่อลำเลียงปัสสาวะ เพื่อขับถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกาย
โดยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อบริเวณไตและกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในไต ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และโรคไตเรื้อรัง
ส่วนการขับถ่ายอุจจาระเกิดจากการที่ร่างกายย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว กากอาหารที่เหลือจากการย่อยอาหารจะถูกส่งไปสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เรียกว่าไส้ตรง (Rectum) เพื่อรอขับถ่ายผ่านทางทวารหนักต่อไป
คนที่ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติจะขับถ่ายวันละไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่บ่อยกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระที่พบบ่อย เช่น ท้องผูกและท้องเสีย
ดูแลระบบขับถ่ายให้มีสุขภาพดี
การดูแลระบบขับถ่ายให้ทำงานตามปกติ มีดังนี้
ระบบขับถ่ายปัสสาวะ
การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยขับแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะ โดยในหนึ่งวันควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8–10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร โดยดื่มทีละน้อยและหลีกเลี่ยงการดื่มโซดาและกาแฟที่มีคาเฟอีน เพราะจะทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
อีกทั้งไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน โดยขณะปัสสาวะควรนั่งในท่าที่ผ่อนคลายเพื่อให้ปัสสาวะได้สุด การกลั้นปัสสาวะจะทำให้มีปัสสาวะเหลืออยู่ค้างอยู่ ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้
สำหรับผู้หญิง หลังขับถ่ายควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ถูกวิธี โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด หรือการใช้สบู่ที่มีน้ำหอมและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอด เพราะอาจเสี่ยงต่อการระคายเคือง
นอกจากนี้ ควรปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้แบคทีเรียถูกขับออกจากร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscles) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการกลั้นปัสสาวะ เพราะอาจช่วยป้องกันภาวะปัสสาวะเล็ดได้
ระบบขับถ่ายอุจจาระ
เราควรดูแลระบบขับถ่ายอุจจาระไม่ให้ท้องผูก โดยรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ (Fiber) สูงให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น ผักและผลไม้ โดยปริมาณไฟเบอร์ที่ควรได้รับต่อวันในผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไปจะอยู่ที่ประมาณ 25 กรัมต่อวัน และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป
ยิ่งไปกว่านั้นควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และฝึกวินัยในการขับถ่าย เช่น ไม่กลั้นอุจจาระ พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา และหากนั่งชักโครกควรนั่งงอเข่าหาลำตัวหรือหาเก้าอี้ตัวเตี้ย ๆ ไว้หน้าชักโครกสำหรับวางขาขณะนั่งขับถ่าย เพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
คนที่มีอาการท้องผูก ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาระบายมารับประทาน และหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเสียสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย หรือทำให้ลำไส้เกิดความเคยชินกับการใช้ยาจนทำให้ขับถ่ายเองได้ลำบาก หากจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
สำหรับการป้องกันอาการท้องเสียทำได้โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ ผู้ที่มีอาการท้องเสียควรงดรับประทานอาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์นม อาหารที่มีไฟเบอร์สูงและไขมันสูง
รวมถึงไม่ลืมดื่มน้ำให้เพียงพอหรือผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย (Oral Rehydration Salts: ORS) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ท้องเสียไม่หยุด ลักษณะและสีของอุจจาระเปลี่ยนไป รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือถ่ายเป็นเลือด ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ