แท้งคือการสูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้ประมาณ 10–15% ของหญิงตั้งครรภ์ ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแท้งคือความผิดปกติทางพันธุกรรมและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการแท้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่สามารถป้องกันได้ หากคุณแม่เรียนรู้สาเหตุของการแท้ง ปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ และวางแผนการดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการแท้งได้
สาเหตุและสัญญาณของการแท้ง
โดยส่วนใหญ่แล้ว การแท้งมักเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1–13 ซึ่งเป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์จะพบได้น้อยกว่า และหากแท้งหลังจากที่มีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์จะเรียกว่าภาวะตายคลอด (Stillbirth) ทั้งนี้ สาเหตุที่พบบ่อยของการแท้ง มีดังนี้
ความผิดปกติของโครโมโซม
ในโครโมโซมประกอบด้วยยีน (Gene) หรือหน่วยที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม หากจำนวนโครโมโซมมากหรือน้อยกว่าปกติ จะทำให้ตัวอ่อนทารกไม่สามารถพัฒนาได้จึงเกิดการแท้งในที่สุด เช่น ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) และดาวน์ซินโดรม
ปัญหาสุขภาพและการใช้ชีวิตของคุณแม่
ปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้เกิดการแท้ง เช่น การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา โรคไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เนื้องอกมดลูก รวมทั้งการใช้ยาบางชนิด และพฤติกรรมของคุณแม่ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือได้รับสารเคมีที่เป็นพิษขณะตั้งครรภ์
สัญญาณของการแท้งที่พบได้บ่อยคือมีเลือดหรือเมือกขาวอมชมพูออกจากช่องคลอด ปวดเกร็งท้องหรือบริเวณหลังส่วนล่าง มีไข้ น้ำหนักลดลงผิดปกติ และมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และคัดตึงบริเวณเต้านมน้อยลง หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุต่อไป
ป้องกันการแท้งทำได้อย่างไร
แม้ว่าการแท้งที่มีปัจจัยจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงของการแท้งที่เกิดจากปัญหาสุขภาพและปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น
- ฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อดูแลสุขภาพครรภ์และเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารก รวมทั้งรับประทานกรดโฟลิกเสริมวันละ 400 ไมโครกรัม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกที่อาจทำให้แท้งลูก
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะกับคนท้อง เช่น โยคะ การเดิน การปั่นจักรยานอยู่กับที่ และการเต้นแอโรบิกในน้ำ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่ทำให้เกิดแรงกดบนข้อต่อสะโพกและเข่า เช่น การยกเวท และระมัดระวังการหกล้มขณะออกกำลังกาย
- ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนให้ไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยจัดห้องนอนให้มีอุณหภูมิและแสงสว่างที่เหมาะสมต่อการนอนหลับ และใช้หมอนรองไว้ใต้ท้องและระหว่างเข่าทั้งสองข้าง ซึ่งจะช่วยรองรับบริเวณหลังและท้อง ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- ดูแลตัวเองและใช้ยารักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ และโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันตามที่แพทย์สั่ง และปรึกษาแพทย์หากรับประทานยาใด ๆ อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังทำอาหารและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังหยิบจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกับคนอื่น เช่น เงิน ลูกบิดประตู
- ฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนอื่น ๆ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนเสมอ เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดมีช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการฉีดต่างกัน
- ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธุ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งหรือปัญหาสุขภาพของทารก
แม้จะไม่สามารถป้องกันการแท้งที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมได้ แต่การดูแลสุขภาพครรภ์ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย รักษาโรคประจำตัว และดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อจะช่วยลดความเสี่ยงของการแท้งได้ นอกจากนั้น แม้การแท้งซ้ำจะพบได้น้อย แต่ผู้ที่เคยแท้งมาก่อนควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจและรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างเหมาะสมต่อไป