รู้จักสิวข้าวสาร ปัญหาผิวกวนใจ กับสาเหตุและแนวทางการรักษา

สิวข้าวสาร (Milia) เป็นตุ่มนูนสีขาวขนาดเล็กคล้ายเม็ดข้าวสาร มักขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณแก้มและจมูก เกิดจากการอุดตันของโปรตีนเคราตินใต้ผิวหนัง สิวข้าวสารอาจทำให้เกิดความรำคาญและความไม่สวยงาม แต่มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา

สิวข้าวสารพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด แต่อาจพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ สิวข้าวสารมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีสาเหตุของการเกิดที่แตกต่างกัน เช่น โรคผิวหนังที่ทำให้เกิดแผล ผิวไหม้แดด การใช้ครีมทาผิวที่มีสเตียรอยด์ หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ในบทความนี้ได้รวบรวมอาการ สาเหตุ และวิธีรักษาสิวข้าวสารเอาไว้แล้ว

รู้จักสิวข้าวสาร ปัญหาผิวกวนใจ กับสาเหตุและแนวทางการรักษา

สิวข้าวสารมีลักษณะอย่างไร

สิวข้าวสารมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กประมาณ 1–2 มิลลิเมตร มักขึ้นเป็นกลุ่มและมีสีขาวหรือสีเหลือง พบได้บ่อยที่บริเวณหน้าผาก เปลือกตา ใต้ตา จมูก และแก้ม และอาจขึ้นภายในปาก หน้าอก แขนขา และอวัยวะเพศ สิวข้าวสารมีหลายประเภท โดยทั่วไปมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่บางประเภทอาจเกิดการอักเสบและทำให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสเสียดสีกับเสื้อผ้า

สิวข้าวสารในเด็กแรกเกิดอาจคล้ายกับสิวในทารก (Baby Acne) แต่สิวในทารกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะที่ตั้งครรภ์ มักมีอาการบวมและอักเสบ และเกิดหลังจากทารกอายุได้ 2–4 สัปดาห์ ส่วนสิวข้าวสารจะไม่มีการอักเสบ และเกิดทันทีหลังทารกคลอด

นอกจากนี้ ลักษณะของสิวขาวสารยังคล้ายกับสิวหัวขาว ซึ่งเป็นสิวอุดตันชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวบนผิวหนัง เกิดจากการที่สิ่งสกปรกหรือน้ำมันส่วนเกินอุดตันภายในรูขุมขน ทำให้เกิดสิวหัวขาว แต่สิวข้าวสารจะขึ้นที่บริเวณใต้ผิวหนังชั้นนอก

สิวข้าวสารเกิดจากอะไร

สิวข้าวสารเกิดขึ้นเมื่อเคราติน (Keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในเล็บ เส้นผม และเนื้อเยื่อผิวหนัง เกิดการอุดตันอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งสิวข้าวสารแต่ละประเภทมีสาเหตุของการเกิดต่างกัน โดยประเภทที่พบในทารกมักเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่อาจเกิดจากการบาดเจ็บของผิวหนัง

สิวข้าวสารแต่ละชนิดมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการต่างกัน ดังนี้

  • สิวข้าวสารในเด็กแรกเกิด (Neonatal Milia) มักขึ้นที่หนังศีรษะ รอบจมูก เพดานปากและกระพุ้งแก้ม (Epstein Pearls) รวมทั้งร่างกายส่วนบน โดยสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์
  • สิวข้าวสารปฐมภูมิ (Primary Milia) พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักขึ้นที่หน้าผาก รอบดวงตา แก้ม และอวัยวะเพศ ในเด็กเล็กอาจมีสิวข้าวสารชนิดนี้ขึ้นเป็นแถวที่รอยพับของผิวหนังตรงจมูก (Nasal Crease) โดยอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจึงหายไป
  • สิวข้าวสารในวัยหนุ่มสาว (Juvenile Milia) มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น Pachyonychia Congenita และ Gardner’s Syndrome ซึ่งทำให้เกิดสิวข้าวสารตั้งแต่เด็ก หรือเกิดขึ้นภายหลัง
  • สิวข้าวสารชนิดแบนราบ (Milia en Plaque) พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบมากในผู้หญิงอายุระหว่าง 40–60 ปี เกิดจากโรคทางพันธุกรรมและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่ทำให้ผิวเกิดการอักเสบจนกลายเป็นแผ่นนูน ซึ่งอาจมีขนาดแตกต่างกัน โดยขึ้นที่เปลือกตา แก้ม หลังหู และแนวกราม 
  • สิวข้าวสารจากบาดแผล (Traumatic Milia) เกิดขึ้นขณะที่ผิวหนังกำลังสมานตัวจากบาดแผล เช่น แผลไฟไหม้ ผิวไหม้แดด แผลพุพองจากโรคเพมฟิกอยด์ โรคดักแด้ (Epidermolysis Bullosa) และการรักษาผิวหนังเพื่อลบรอยแผลเป็น
  • สิวข้าวสารที่เกิดจากการใช้ยาเคมีบำบัดและผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมของฟีนอล (Phenols) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteriod) น้ำมันพาราฟิน (Parafin Oil) และไฮโดรควิโนน
  • สิวข้าวสารชนิดแตกได้ (Multiple Eruptive Milia) เป็นประเภทที่พบได้ยาก มักพบที่บริเวณใบหน้า แขนช่วงบน และลำตัวส่วนบน บางคนอาจไม่มีอาการหรือรู้สึกคันในบริเวณที่เป็น โดยอาจมีอาการเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

นอกจากนี้ สิวข้าวสารอาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รักษาความสะอาดและดูแลผิวอย่างเหมาะสม ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่อุดตันรูขุมขน พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งผู้ที่มีรังแคและโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ (Eczema) และโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) อาจมีโอกาสเกิดสิวข้าวสารได้ง่ายกว่าคนอื่น

สิวข้าวสารรักษาอย่างไร

สิวข้าวสารมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา โดยสามารถดูแลผิวในเบื้องต้นด้วยการล้างหน้าให้สะอาดทุกวันด้วยน้ำอุ่นและโฟมล้างหน้าชนิดอ่อนโยน ซับหน้าให้แห้ง ไม่ทาครีมทาผิวสำหรับผู้ใหญ่ให้เด็ก เพราะเด็กมีผิวบอบบางและระคายเคืองง่าย และทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

ผู้ใหญ่อาจใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวที่หาซื้อได้เอง เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) (Alpha Hydroxy Acids) อะดาพาลีน (Adapalene) ซึ่งช่วยในการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองแล้วสิวข้าวสารยังไม่หายไป หรืออยู่ในบริเวณที่ยากต่อการรักษาด้วยตัวเอง เช่น เปลือกตา หรือเป็นสิวข้าวสารประเภทที่ทำให้เกิดอาการคัน ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษา ซึ่งวิธีรักษาสิวข้าวสาร มีดังนี้

  • การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยาทาผิวกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) เช่น ครีมเตรทติโนอิน (Tretinoin) หรือยามิโนไซคลีน Minocycline) เพื่อรักษาสิวข้าวสารชนิดแบนราบ ทั้งนี้ ยากลุ่มเรตินอยด์ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้วางแผนตั้งครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • การกดสิวข้าวสารโดยแพทย์ผิวหนัง แพทย์จะใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะเพื่อเปิดหัวสิวข้าวสาร และกดสิวที่อยู่ข้างในออกมา ทั้งนี้ ไม่ควรกดสิวด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น หรือการติดเชื้อที่ผิวหนังได้
  • การกำจัดสิวด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกด้วยสารเคมี (Chemical Peel) การเลเซอร์ การรักษาด้วยการใช้ความเย็นกำจัดสิว (Cryotherapy) และการขูดเอาสิวข้าวสารออก

การป้องกันสิวข้าวสารทำได้โดยการรักษาความสะอาดของผิว หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีเนื้อหนัก เพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขน ทาครีมกันแดดและสวมหมวกเมื่ออยู่กลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันนานเกินกว่าที่แพทย์สั่ง หากอาการสิวข้าวสารไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เพราะอาจเป็นอาการของโรคผิวหนังอื่น ๆ