รู้จักอาการฝีดาษลิง และวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

อาการฝีดาษลิง เช่น ผื่นบนผิวหนัง มีไข้ และอ่อนเพลีย อาจเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสภายใน 3 สัปดาห์ โดยฝีดาษลิงอาจติดต่อได้จากการสัมผัสบริเวณผื่น สะเก็ดแผล หรือการสัมผัสละอองของของเหลว เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งวิธีรับมืออาการฝีดาษลิงอาจทำได้โดยการดูแลตัวเอง หรือกินยารักษาเพื่อช่วยให้อาการฝีดาษลิงดีขึ้น

ฝีดาษลิง (Mpox หรือ Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ ในปัจจุบันพบ 2 สายพันธุ์หลัก คือ Clade II ซึ่งเริ่มระบาดในปี 2022 ในทวีปแอฟริกา และ Clade I ที่สามารถกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์ Clade 1B ได้ ซึ่งแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าและอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B รายแรกแล้วในปี 2024 

Mpox Symptoms

อาการฝีดาษลิงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่มีอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเหล่านี้อาจเสี่ยงต่อการมีอาการฝีดาษลิงรุนแรงกว่าผู้อื่นเมื่อได้รับเชื้อฝีดาษลิง

ทำความรู้จักอาการฝีดาษลิง

อาการฝีดาษลิง หรือ mpox อาจเกิดขึ้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไป อาการฝีดาษลิงมักแสดงอาการภายใน 3–17 วันหลังจากการติดเชื้อ โดยผู้ติดเชื้ออาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหลัง ปวดตามข้อ 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ผื่น ซึ่งอาจเริ่มจากเป็นตุ่มแดงราบ ตุ่มนูนแดง เมื่อเวลาผ่านไปอาจเปลี่ยนไปเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง และจะเริ่มตกสะเก็ด และหลุดออกไปในที่สุด

ผื่น mpox เป็นผื่นที่อาจทำให้รู้สึกคันหรือปวด โดยผื่นมักเริ่มเกิดบนบริเวณใบหน้า และกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปาก อวัยวะเพศ และรูทวาร ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจึงอาจมีอาการปวดบริเวณรูทวาร หรือมีเลือดไหลออกจากรูทวารร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผื่นหรือมีผื่นเกิดขึ้นน้อย บางรายอาจมีผื่นเกิดขึ้นก่อนอาการฝีดาษลิงอื่น ๆ และบางรายมีอาการฝีดาษลิงอื่น ๆ ก่อนประมาณ 1–5 วันแล้วจึงเกิดผื่นขึ้น ซึ่งช่วงระหว่างที่มีอาการฝีดาษลิงจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีผื่น ตุ่มน้ำ หรือสะเก็ดแผล สารคัดหลั่งจากการไอจาม การมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน

วิธีรับมืออาการฝีดาษลิงอย่างเหมาะสม

อาการฝีดาษลิงมักไม่รุนแรง และอาจดีขึ้นได้เองภายใน 2–4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การรับมืออาการฝีดาษลิงอย่างเหมาะสมอาจช่วยบรรเทาอาการฝีดาษลิงให้ดีขึ้นและป้องกันการส่งต่อเชื้อให้แก่ผู้อื่นได้ โดยวิธีการรับมือเมื่อเกิดอาการฝีดาษลิงสามารถทำได้หลายวิธี เช่น 

  • กักตัวอยู่แต่ในบ้านหรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นจนกว่าอาการฝีดาษลิงจะหายไป เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ
  • กินยาแก้ปวดหรือยาลดไข้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และ ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อบรรเทาอาการฝีดาษลิง
  • ควรใช้น้ำเกลือล้างผื่นหรือแผลในปาก และใช้น้ำอุ่นผสมน้ำเกลือเพื่อแช่ร่างกายอาจช่วยไม่ให้ผิวบริเวณผื่นแห้งและลดอาการคันได้
  • รักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการปิดผื่นด้วยผ้าพันแผล อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ควรปิดผื่นเพื่อลดการส่งต่อเชื้อ
  • ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่หรือเจลล้างมือก่อนและหลังจากสัมผัสผื่นฝีดาษลิง
  • หลีกเลี่ยงการโกนขนและการเกาบริเวณที่เกิดผื่น เพราะอาจส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น ผื่นหายช้าลง ผื่นแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย และอาจเกิดการติดเชื้อได้

ในบางกรณี อาการฝีดาษลิงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการฝีดาษลิงรุนแรง หรือเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการฝีดาษลิงรุนแรง เช่น เด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังกินยาหรือเป็นโรคที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยแพทย์อาจจ่ายยาต้านไวรัส เช่น ยาไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) หรือยาเทโควิริแมท (Tecovirimat) เพื่อรักษาโรคฝีดาษลิงให้ดีขึ้น

การป้องกันอาการฝีดาษลิง

อาการฝีดาษลิงป้องกันได้โดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีผื่นหรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นกับฝีดาษลิง หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธุ์และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ที่นอน ผ้าห่ม ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อย ๆ และฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง (Mpox Vaccine)

โดยในประเทศไทยให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเน้นฉีดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เช่น ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อแล้ว ซึ่งควรฉีดภายใน 4–14 วันหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อฝีดาษลิง 

การฉีดวัคซีนฝีดาษลิงจะฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal) ขนาด 0.1 มิลลิลิตร จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถาม และทำนัดฉีดวัคซีนได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

หากมีอาการอื่นที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก พูดหรือเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก หมดสติ ชัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป