โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ปัจจุบันรู้จักแพร่หลายกันมากขึ้น มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ที่มีอาการโรคแพนิคนั้นจะรู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงโดยหาสาเหตุไม่ได้ โรคแพนิคจึงอาจส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การทราบถึงสัญญาณของโรคอาจช่วยให้เราสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที
แม้ทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดอาการโรคแพนิค แต่อาการของโรคมักเกี่ยวข้องกับความเครียดสะสม อาการเจ็บป่วย การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ปัญหาสุขภาพจิต สภาวะแวดล้อมรอบตัว และอาจเป็นผลจากปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย
สัญญาณของอาการโรคแพนิค
อาการโรคแพนิคไม่ใช่แค่อาการตระหนกตกใจแบบที่หลายคนเข้าใจ แต่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างรุนแรงซ้ำ ๆ โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกหวาดผวาอย่างรุนแรงแม้ไม่ได้อยู่ในอันตราย หรือในทางการแพทย์เรียกว่าอาการแพนิค (Panic Attack) โดยอาการมักเกิดอย่างฉับพลันและสามารถเกิดได้ตลอดเวลา
เมื่อผู้ป่วยตื่นตระหนกหรือแพนิค ผู้ป่วยจะมีอาการโรคแพนิคต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อาการเป็นเวลาประมาณ 5–10 นาที
- รู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในอันตราย
- ตัวสั่น
- ปวดหัว เวียนหัว
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- เหงื่อออกมาก
- หายใจไม่อิ่มหรือรู้สึกหายใจไม่ออก
- รู้สึกแน่นในลำคอ
- รู้สึกคล้ายกำลังสำลัก
- คลื่นไส้
- ปวดบีบท้อง
- หนาวสั่น
- รู้สึกแสบร้อน
- ชาตามร่างกาย
- หวาดกลัวการเสียการควบคุมหรือรู้สึกคล้ายเสียสติ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการโรคแพนิคยังอาจกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเกิดอาการในครั้งต่อไป หวาดกลัวหรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่เคยเกิดอาการแพนิคในอดีต กลัวความตายหรือหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเกิดอาการโรคแพนิค
เมื่อมีอาการโรคแพนิค ควรไปพบแพทย์หรือไม่
หากมีอาการแพนิคหรืออาการที่เข้าข่ายโรคแพนิคเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ เนื่องจากอาการโรคแพนิคอาจคล้ายคลึงกับอาการโรคประจำตัวอื่น ๆ อีกทั้งบางคนยังไม่สามารถรับมือกับอาการโรคแพนิคได้อย่างเหมาะสม และอาการอาจมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษา
เพื่อลดความวิตกกังวลและช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการโรคแพนิคได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยอาจแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ ยา อาหารเสริม สารเสพติดที่ใช้ และจดบันทึกอาการของโรค ช่วงเวลา ความรุนแรง ผลกระทบของอาการต่อการใช้ชีวิต ระบุความเครียดที่สังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง รวมทั้งไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการโรคแพนิคอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าวได้ด้วยการระบุสิ่งที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงได้ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความเครียด และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยาหรืออาหารเสริม