Sexual Harassment ในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ทำงานเป็นสถานที่ที่มีโอกาสเกิดการคุกคามทางเพศบ่อยครั้งผ่านการแสดงพฤติกรรมทางเพศโดยใช้สายตา วาจา ข้อความ และการสัมผัสตัว ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่สบายใจ กลัว อับอาย และอาจนำไปสู่ความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า
Sexual Harassment ในที่ทำงาน อาจเกิดจากการใช้ประโยชน์หรือโทษจากงานเป็นข้อต่อรองให้พนักงานจำยอมต่อการถูกล่วงละเมิด อย่างการจ้างงานและการเลื่อนตำแหน่ง หรืออาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา พูดตลกลามก ดูหมิ่น สัมผัสร่างกายผู้อื่นโดยไม่ยินยอม ส่งข้อความหรือรูปภาพลามกอนาจาร ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือรําคาญใจ
บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Sexual Harassment ในที่ทำงานที่ควรรู้ และวิธีรับมือหากคุณหรือคนใกล้ตัวถูกคุกคามทางเพศมาฝากกัน
Sexual Harassment ในที่ทำงานมีลักษณะอย่างไร
Sexual Harassment ในที่ทำงานสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด โดยผู้กระทำมักใช้อำนาจในที่ทำงานคุกคามอีกฝ่าย เช่น นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาคุกคามลูกจ้างหรือพนักงานที่มีตำแหน่งต่ำกว่า ในบางกรณี Sexual Harassment อาจเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนร่วมงานที่กระทำต่อเพื่อนร่วมงานด้วยกัน หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกับผู้ที่ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน
การคุกคามทางเพศในที่ทำงานไม่ได้เกิดขึ้นในสำนักงานเท่านั้น แต่อาจเกิดในสถานที่จัดงานของบริษัท สถานที่ที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน และระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติงาน หรือระหว่างการใช้โทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประสานงาน โดยพฤติกรรมที่เข้าข่าย Sexual Harassment มีดังนี้
1. การกระทำทางร่างกาย
การคุกคามทางร่างกายอาจจะเป็นการจ้องมองร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ ทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจ เช่น การจ้องลงไปที่คอเสื้อ หน้าอก ต้นขา หรือเป็นการลูบคลำร่างกายผู้อื่นโดยมีนัยทางเพศ ทั้งการสัมผัสร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งโดยที่อีกฝ่ายไม่เต็มใจ การฉวยโอกาสแตะเนื้อต้องตัว กอดจูบ หรือการดึงมานั่งตัก
ไม่เพียงแค่นั้น การกระทำทางร่างกายที่เข้าข่าย Sexual Harassment ยังรวมไปถึงการตามตื๊อโดยที่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย การยักคิ้วหลิ่วตา การผิวปากเชิญชวน การส่งจูบ การเลียริมฝีปาก และการตั้งใจใกล้ชิดเกินไป
2. การใช้วาจา
Sexual Harassment ในที่ทำงานโดยใช้วาจามีหลายประเภท เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและการแต่งกายที่ส่อไปทางเพศ การพูดเรื่องตลกเกี่ยวกับเพศ พูดแทะโลม และหยอกล้อที่มีนัยทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยต่อหน้า จับกลุ่มนินทาลับหลัง หรือคุยโทรศัพท์
นอกจากนี้ การคุกคามโดยใช้วาจายังรวมถึงการพูดคุยเรื่องเพศหรือเพศสัมพันธ์ เช่น การถามเกี่ยวกับประสบการณ์และความชื่นชอบทางเพศ การแสดงความคิดเห็นต่อรสนิยมทางเพศ และการแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของผู้อื่น ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายใจ อับอาย และเสียเกียรติ
3. การกระทำอื่น ๆ
ไม่เพียงแค่การแสดงท่าทีคุกคาม แต่ Sexual Harassment ยังอาจอยู่ในรูปแบบของการส่งข้อความ รูปภาพ หรือสื่อลามกอนาจารให้ผู้อื่น การใช้สัญลักษณ์ ภาพวาด หรือสื่ออื่น ๆ ที่แสดงถึงอวัยวะเพศหรือการร่วมเพศ และการเปิดภาพโป๊ในที่ทำงานให้คนอื่นเห็น
ทั้งนี้ Sexual Harassment ในที่ทำงานมักเกี่ยวข้องกับการสัญญาจะให้ผลประโยชน์ เช่น การปรับเงินเดือนหรือตำแหน่ง การต่อสัญญาการทำงานแลกกับการมีเพศสัมพันธ์ หรือขอให้ทำอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ หรืออาจใช้การข่มขู่และการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ หากไม่ยินยอมอาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน
ผลกระทบจากการถูก Sexual Harassment ในที่ทำงาน
Sexual Harassment ในที่ทำงานส่งผลต่อผู้ถูกกระทำทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น เกิดความเครียด วิตกกังวล ปวดหัว ปวดท้อง เห็นคุณค่าในตัวเองลดลง รวมถึงยังมีผลการวิจัยพบว่าการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการของโรคซึมเศร้า เนื่องจากพนักงานมักกลัวว่าจะเกิดผลเสียต่อหน้าที่การงาน เช่น ถูกไล่ออก จึงไม่กล้าบอกให้คนอื่นรู้หรือไม่กล้าแจ้งความเมื่อถูกคุกคามทางเพศ
การถูกคุกคามทางเพศยังส่งผลต่อการทำงาน โดยทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง อาจทำให้ขาดงานบ่อยเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการถูกคุกคามจากคนที่ทำงาน บางคนอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปลีกตัวจากสังคม ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด
หากถูกคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่องและรุนแรง อาจเห็นภาพเหตุการณ์ที่เคยเจอซ้ำ ๆ (Flashback) และเกิดอาการแพนิค (Panic Attack) ซึ่งเป็นอาการของโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ควรทำอย่างไรเมื่อถูก Sexual Harassment ในที่ทำงาน
หากตัวเองหรือคนรอบข้างเผชิญกับ Sexual Harassment ในที่ทำงาน ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้เกิดการคุกคามทางเพศมากขึ้น โดยอาจรับมือกับเหตุการณ์ที่เจอตามคำแนะนำดังนี้
- พูดกับคนที่คุกคามโดยตรง แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่พอใจการคุกคามที่เกิดขึ้น แต่ไม่ควรตอบโต้ด้วยการหยอกล้อหรือพูดติดตลก เพราะผู้กระทำอาจคิดว่าเรายอมรับการถูกคุกคาม
- ถอยห่างจากการคุกคามทางเพศ และส่งเสียงร้องให้ผู้อื่นช่วย
- บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากทำได้ โดยการบันทึกเสียง รูปภาพ หรือวิดีโอขณะเกิดเหตุการณ์ และจดบันทึกเหตุการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร โดยจดวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ และรายละเอียดเหตุการณ์ หากมีผู้เห็นเหตุการณ์ให้ระบุชื่อบุคคลนั้นไว้เป็นหลักฐานด้วย
- แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฝ่ายบุคคลและหัวหน้างานรับทราบ
- แจ้งความดำเนินคดี โดย Sexual Harassment ถือเป็นคดีอาญาและผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนายจ้าง บุคคลที่รับผิดชอบ หัวหน้างาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการทารุณทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศ หรือลวนลามต่อแรงงาน
- ไม่ควรโทษว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะจะทำให้เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
- หากเกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรับมือกับเหตุการณ์
หากคุณเผชิญกับ Sexual Harassment ในที่ทำงาน ควรบอกให้คนที่ไว้ใจและหัวหน้างานของผู้กระทำได้รับทราบ เพื่อดำเนินการหาข้อเท็จจริงมาพิจารณาบทลงโทษและวิธีแก้ปัญหาตามกฎของหน่วยงาน หรือร้องเรียนไปที่องค์กรนอกหน่วยงาน เช่น ศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทรสายด่วนที่เบอร์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง