ร้องไห้แล้วปวดหัว รู้จักสาเหตุและวิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ร้องไห้แล้วปวดหัว เป็นอาการที่พบได้หลังจากร้องไห้เป็นเวลานานหรือร้องไห้อย่างหนักหน่วง โดยการร้องไห้อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียว หรือปวดหัวทั้ง 2 ข้าง อีกทั้งบางรายยังอาจรู้สึกปวดบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขมับ ไซนัส หน้า หรือคอ

การร้องไห้เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายเมื่อเกิดอารมณ์รุนแรง เช่น เศร้า หดหู่ โกรธ หรือมีความสุข โดยการร้องไห้จะช่วยปลดปล่อยอารมณ์ที่รุนแรงและอาจช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การร้องไห้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลากหลายด้าน รวมถึงอาการปวดหัวที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการร้องไห้

็Headache after crying

สาเหตุที่ร้องไห้แล้วปวดหัว

ร้องไห้แล้วปวดหัวอาจเป็นลักษณะของอาการปวดหัวที่แตกต่างกัน เช่น 

1. ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension Headache)

ร้องไห้แล้วปวดหัวอาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า คอ และหนังศีรษะเกร็งตัวขณะที่กำลังร้องไห้ จึงอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณขมับ คอ และไหล่ โดยผู้ที่มีอาการปวดหัวอาจรู้สึกเหมือนมีสายรัดบริเวณรอบหัว 

นอกจากนี้ ปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวยังอาจเกิดจากความกังวลหรือความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุให้ร้องไห้อีกด้วย

2. ปวดหัวไมเกรน

การร้องไห้จากความเครียดอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ โดยผู้ที่ร้องไห้แล้วปวดหัวไมเกรนอาจมีอาการปวดหัวตุบ ๆ ข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง

3. ปวดหัวบริเวณไซนัส

ร่างกายอาจสร้างน้ำตาในปริมาณมากขณะที่กำลังร้องไห้อย่างหนักหน่วง ซึ่งอาจทำให้น้ำตาไหลผ่านท่อน้ำตามายังบริเวณไซนัสหรือโพรงจมูกได้ โดยน้ำตาอาจไหลมารวมกับของเหลวภายในจมูก จึงทำให้มีน้ำมูกไหล รวมถึงอาการคัดจมูกตามมา อาการคัดจมูกฃที่เกิดขึ้นอาจเพิ่มความดันบริเวณไซนัสและอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้

อาการร้องไห้แล้วปวดหัวที่เกิดจากสาเหตุนี้อาจรู้สึกปวดบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หน้าผาก หัวคิ้ว แก้ม และรอบดวงตา

วิธีรักษาเมื่อร้องไห้แล้วปวดหัวอย่างเหมาะสม

ร้องไห้แล้วปวดหัวเป็นอาการที่สามารถรักษาได้หลายวิธี โดยในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการอาจบรรเทาอาการปวดหัวได้จากวิธีต่าง ๆ เช่น 

  • นวดเบา ๆ บริเวณหนังศีรษะ ขมับ และคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดหัว
  • ประคบเย็นหรือประคบร้อนบริเวณที่มีอาการเพื่อบรรเทาอาการปวดหัว และคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวจากการร้องไห้
  • นอนหลับพักผ่อนในห้องที่มีอากาศเย็นสบาย มืด และเงียบ เพื่อลดสิ่งรบกวนหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการไมเกรนแย่ลง
  • กินยาแก้ปวดหัวที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน 

นอกจากการรักษาอาการปวดหัวแล้ว การรักษาที่สาเหตุของการร้องไห้แล้วปวดหัวก็เป็นสิ่งสำคัญ หากสาเหตุของการร้องไห้เกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวล ควรใช้วิธีผ่อนคลายความเครียดต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น 

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายต่าง ๆ เช่น การเดิน การวิ่ง โยคะ อาจช่วยลดความเครียด อีกทั้งยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปยังกีฬาหรือกิจกรรมอื่น ๆ แทนความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เป็นสาเหตุของการร้องไห้
  • ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น การนั่งสมาธิ การฟังเพลง การดูภาพยนตร์ กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยผ่อนคลายความเครียดได้
  • พูดคุยกับผู้อื่น การพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลที่ไว้ใจอาจช่วยระบายความเครียด รวมทั้งยังอาจช่วยให้มองเห็นมุมมองหรือวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ อีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่เพื่อคลายความเครียด เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

นอกจากนี้ ความเศร้าจากการเลิกราหรือการสูญเสียก็อาจเป็นสาเหตุของการร้องไห้ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือการให้เวลาแก่ตนเองได้เสียใจ ถึงแม้ว่าอาจจำเป็นต้องใช้เวลานาน แต่สักวันหนึ่งก็จะสามารถก้าวข้ามผ่านการเลิกลาหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ในระหว่างนี้ ควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ

ทั้งนี้ การร้องไห้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเพราะความเครียด ความโศกเศร้า หรือสาเหตุอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า ผู้ที่ร้องไห้บ่อย ๆ ควรขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดและหาทางออกให้แก่ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม 

ร้องไห้แล้วปวดหัวเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากอาการปวดหัวไม่ดีขึ้นภายใน 1–2 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง อาเจียน มีปัญหาด้านการพูด การมองเห็น และการทรงตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ และรับการรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ