ลำไส้อักเสบ กับอาหารที่ควรเลือกและควรเลี่ยง

ลำไส้อักเสบชนิดลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและมีอาการต่าง ๆ ที่สร้างความทรมาน

นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การปรับเมนูอาหารให้เหมาะสมก็อาจช่วยให้อาการของโรคนี้ทุเลาลงได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน อาหารบางชนิดก็อาจทำให้อาการกำเริบขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาแนวทางการรับประทานอาหารแล้วนำไปปรับให้เหมาะสมกับตนเอง ดังนี้

Ulcerative Colitis

อาหารที่ควรเลือก

อาการของโรคลำไส้อักเสบชนิดลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เช่น ท้องเสียหรืออุจจาระเป็นเลือดเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร หรือทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ซึ่งประเภทของอาหารที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่

  • อาหารที่มีแคลอรี่สูง เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนจะมีน้ำหนักตัวลดลงและอาจมีภาวะขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงจึงอาจช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ เช่น มันฝรั่ง เนยถั่ว นมข้นจืด ไอศกรีม คุกกี้ พุดดิ้ง คัสตาร์ด ดาร์กช็อกโกแลต เป็นต้น
  • อาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ เช่น ขนมปังขาว ข้าวขัดขาว แตงโม มะละกอ เป็นต้น เพราะเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยให้ลำไส้ทำงานน้อยลง ยับยั้งอาการปวดท้องและท้องเสีย
  • อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ไข่ขาว ถั่วลันเตา เนื้อไก่ ผักและผลไม้ เป็นต้น เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงอาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้
  • อาหารที่มีโซเดียมต่ำ เช่น ผักและผลไม้สด เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่ไม่ใส่เกลือ แพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนี้ในระหว่างการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะร่างกายบวมน้ำ
  • อาหารที่ปราศจากแล็กโทส เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือน้ำนมข้าว เพราะผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้
  • อาหารที่ปราศจากกลูเตน เช่น ผักและผลไม้สด ไข่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ปีก เป็นต้น เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้กลูเตน
  • อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาซาดีน ปลาจาระเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากระพง ปลาช่อน เมล็ดแฟลกซ์ และถั่ววอลนัท จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบในช่วงที่อาการของโรคกำเริบขึ้น
  • อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ปีก และไข่ เมื่ออาการของโรคกำเริบ ร่างกายจะสูญเสียโปรตีน ซึ่งการรับประทานอาหารเหล่านี้จะช่วยคืนโปรตีนให้แก่ร่างกาย
  • อาหารประเภทโพรไบโอติกส์ เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการย่อยอาหารซึ่งพบได้ในโยเกิร์ต และควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลน้อย เพราะน้ำตาลอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
  • ผักและผลไม้บางชนิด เช่น อะโวคาโด เพราะเป็นแหล่งของโปรตีนและไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแคลอรี่สูง และประกอบด้วยน้ำถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ย่อยง่าย และแครอทซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและสารต้านอนุมูลอิสระ หรือกล้วย ผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อการย่อยอาหาร เป็นต้น
  • น้ำดื่ม การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเมื่อโรคนี้กำเริบ ลำไส้จะไม่สามารถดูดซึมของเหลวได้ตามปกติ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำตามมา

อาหารที่ควรเลี่ยง

ผู้ป่วยอาจพบว่าการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหาร และอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้ เช่น

  • ผักผลไม้ที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้ เช่น ผลไม้สด ผักที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ผักที่มีเปลือก ผลไม้ตากแห้ง เบอร์รี่ ข้าวโพด และธัญพืช เพราะมักทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและอาการป่วยอื่น ๆ แย่ลงได้
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยท้องเสีย ปวดท้อง และมีแก๊สในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่แพ้น้ำตาลแล็กโทส
  • อาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงของทอดและของมัน เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ท้องเสีย หรือทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ซึ่งอาจกระตุ้นการทำงานของลำไส้จนเกิดอาการท้องเสียและเป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
  • น้ำอัดลมและโซดา อาจทำให้ท้องอืด และเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ น้ำอัดลมยังประกอบไปด้วยน้ำตาลและคาเฟอีน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการป่วยกำเริบได้
  • อาหารที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน เช่น เนื้อแดง ชีส ขนมปัง นม อัลมอนด์ ลูกเกด ลูกพรุน ผักในตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น เนื่องจากอาหารดังกล่าวอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก
  • อาหารที่มีรสเผ็ด เป็นเหตุให้ผู้ป่วยท้องเสีย และอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบหรือแย่ลงได้
  • อาหารที่มีกลูเตน เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ตบางชนิด จะกระตุ้นให้อาการกำเริบสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และการเลี่ยงบริโภคอาหารที่เสี่ยงทำให้อาการกำเริบแล้ว การแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยก็อาจทำให้รับประทานได้ง่ายกว่าเดิม และยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น โดยผู้ป่วยอาจจดบันทึกอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารแต่ละชนิดด้วย เพื่อช่วยให้ทราบว่าอาหารชนิดใดที่มีส่วนทำให้อาการกำเริบได้

อย่างไรก็ตาม แม้อาหารบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการของลำไส้อักเสบชนิดลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรืออาหารบางชนิดก็ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องสังเกตอาการของตนเองหลังรับประทานอาหารแต่ละชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้อาการป่วยกำเริบ

นอกจากนี้ นักโภชนาการอาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมชนิดเหลวสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทั่วไปได้ หรือผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานวิตามินหรือเกลือแร่เพื่อชดเชยสารอาหารที่ขาดไปด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและอาหารเสริมแต่ละชนิด เพื่อบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย