ความหมาย ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) หรือโรคไอบีเอส คือโรคลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย หรืออั้นอุจจาระไม่อยู่ แม้อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว แต่มักส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย
สาเหตุของลำไส้แปรปรวนยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้มากกว่า การรักษาลำไส้แปรปรวนมักใช้วิธีการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยาบรรเทาตามอาการ
สาเหตุของลำไส้แปรปรวน
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าลำไส้แปรปรวนเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่กระตุ้นทำให้ลำไส้เกิดอาการแปรปรวนได้ เช่น
ปัญหาในการย่อยอาหาร
หากอาหารเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารเร็วเกินไป ร่างกายไม่ทันได้ดูดซึมน้ำและสารอาหาร จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย และหากอาหารเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารช้าเกินไป ร่างกายดูดซึมน้ำและสารอาหารมากเกินไป จะทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวลำบากและเกิดอาการท้องผูก
ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
การส่งสัญญาณระหว่างสมองและลำไส้มีปัญหา จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องเสีย และท้องผูกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หรือเรียกว่าภาวะที่อวัยวะในช่องท้องรับความรู้สึกไวเกินไป (Visceral Hypersensitivity)
ปัญหาทางจิตใจและอารมณ์
ในบุคคลที่มีความเครียด วิตกกังวล ปัญหาทางจิต ประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ถูกทารุณกรรมทางเพศ หรือถูกทำร้ายร่างกาย จะมีแนวโน้มของการเกิดโรคได้มากกว่า
การติดเชื้ออย่างรุนแรง
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนตามมาได้ และอาจทำให้จำนวนแบคทีเรียในลำไส้เพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา
ความไวต่ออาหาร (Food Intolerance)
ผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนมักมีภาวะไวต่ออาหารบางอย่าง เช่น อาหารประเภท นม เนย ชีส ช็อกโกแลต ข้าวสาลี น้ำตาลจากผลไม้หรือฟรักโทส (Fructose) สารให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol) ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาอาการซึมเศร้า หรือยาที่มีส่วนประกอบของซอร์บิทอล (Sorbitol) อาจกระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ในบางคน
สาเหตุอื่น ๆ
โรคลำไส้แปรปรวนเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบได้มากกว่าในกลุ่มวัยรุ่นจนถึงช่วงอายุประมาณ 40–50 ปี หากคนในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้มากกว่า
เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้มากกว่าในเพศชาย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงการมีประจำเดือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน
อาการของลำไส้แปรปรวน
ในผู้ที่ป่วยลำไส้แปรปรวนจะมีอาการเกี่ยวกับช่องท้องและลำไส้ โดยจะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ได้แก่
- ไม่สบายท้อง แน่นท้อง ท้องอืด มีแก๊สในท้องมาก
- ปวดท้องด้านล่างมากหลังรับประทานอาหาร และอาการจะดีขึ้นหลังการขับถ่าย
- ท้องผูก ท้องเสีย บางคนอาจท้องผูกสลับกับท้องเสีย
- อุจจาระแข็งหรือนิ่มกว่าปกติ อุจจาระไม่สุด อุจจาระมีเมือกใสหรือสีขาวปนออกมา
- กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่
- อ่อนเพลีย
- ปวดหลัง
- รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง
อาการของลำไส้แปรปรวนที่ควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการของลำไส้แปรปรวน เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้อาการแย่ลงได้ รวมทั้งหากพบว่ามีอาการอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่ท้อง รวมถึงอาการของโรคโลหิตจาง เช่น รู้สึกเหนื่อย หมดแรง หายใจถี่ หัวใจเต้นแรง ผิวซีด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
การวินิจฉัยลำไส้แปรปรวน
แพทย์จะตรวจอาการของโรคโดยทั่วไปว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีอาการของโรคลำไส้แปรปรวนหรือไม่ ใช้ยารักษาโรคอื่นใดอยู่ รวมถึงเคยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่หรือไม่ เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันหรือไม่ หากตรวจไม่พบความผิดปกติจากโรคอื่นๆ แพทย์จึงวินิจฉัยว่าเกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน และอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
- ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) เพื่อหาสัญญาณและอาการของการอุดตันหรือการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่
- ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Upper Endoscopy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาหารแสบร้อนกลางอกหรืออาหารไม่ย่อย
- เอกซเรย์ (X-Rays)
- ตรวจเลือดเพื่อหาภาวะโลหิตจาง ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ และการติดเชื้อ
- ตรวจอุจจาระเพื่อหาการติดเชื้อในทางเดินอาหารและตรวจหาเลือดที่ปนมาในอุจจาระ
- ทดสอบการแพ้แลคโตส และการแพ้กลูเตน
การรักษาลำไส้แปรปรวน
ในการรักษาทำได้โดยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงรักษาได้โดยจัดการกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต หรือต้องใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังต่อไปนี้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนควรปรับการรับประทานอาหาร ดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย (Soluble Fibre) เช่น กล้วย แอปเปิ้ล แครอท และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 8 แก้ว
- ผู้ที่มีอาการท้องเสียควรลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fibre) เช่น ซีเรียล ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก เพื่อลดการเกิดแก๊สในท้อง และท้องอืด เช่น ถั่ว นมจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี รวมถึงอาหารแปรรูป อาจรับประทานข้าวโอ๊ตเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้
- รับประทานอาหารตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร และไม่ควรรีบรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานสารให้ความหวานซอร์บิทอล มักพบในหมากฝรั่ง เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ผู้ป่วยควรออกกำลังกาย เช่น โยคะ พิลาทิส ไทเก็ก เดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงประเภทของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย และไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป
การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics)
โพรไบโอติกคือแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อร่างกาย ช่วยสร้างสมดุลให้กับแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ พบในอาหารประเภทนมเปรี้ยว โยเกิร์ต และอาหารเสริม ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์อาจช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหาร และช่วยบรรเทาอาการบางอย่างที่เกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย
การใช้ยา
ยาที่ใช้บรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน เช่น
- ยาแก้ปวดท้อง เช่น มีบีเวอรีน (Mebeverine) ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่ค่อนข้างพบได้น้อย เช่น ง่วงซึม หรือท้องผูก เป็นต้น
- ยาระบาย จะช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มและเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น และเหมาะกับผู้ที่มีอาการท้องผูก ในช่วงที่มีการใช้ยาระบายซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือท้องอืด จึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ
- ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการท้องเสีย จะช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ มีเวลาให้อุจจาระแข็งและจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม หรือมีผื่นคัน
- ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ไซตาโลแพรม (Citalopram) ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) จะใช้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดท้องแล้วไม่มีอาการดีขึ้น ในช่วงแรกของการใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากแห้ง ท้องผูก มองภาพไม่ชัด ง่วงซึม
- ยาลินาโคลไทด์ (Linaclotide) รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตอนท้องว่างหรือ 30 นาทีก่อนอาหารมื้อแรกของวัน จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก โดยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานมากขึ้น แต่ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ยาลูบิพรอสโตน (Lubiprostone) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการลำไส้แปรปรวนในเพศหญิงที่อาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้แปรปรวน
ผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนมักมีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจนำไปสู้ความรู้สึกท้อแท้หรือภาวะซึมเศร้า รวมถึงผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนที่เป็นริดสีดวงทวาร จะทำให้ริดสีดวงทวารมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้
การป้องกันลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรค แต่ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออาการและความรุนแรงของโรคลำไส้แปรปรวน คือความเครียด การจัดการกับความเครียดเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันหรือบรรเทาอาการได้ ปฏิบัติได้ด้วยการฝึกลมหายใจ นั่งสมาธิ และการทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายอย่างน้อยละวันละ 20 นาที เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือการแช่ตัวในน้ำอุ่น เป็นต้น