ลิปสติกนับเป็นเครื่องสำอางคู่ใจของใครหลายคน โดยเป็นไอเท็มที่สาว ๆ มักต้องมีติดกระเป๋า เพื่อช่วยเติมแต่งให้ริมฝีปากมีสีสันและดูน่ามองตลอดเวลา แต่ลิปสติกที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ทำมาจากอะไร หากบังเอิญกลืนลงท้องไปจะเป็นอันตรายหรือไม่ ศึกษาได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
ลิปสติกทำมาจากอะไร ?
ลิปสติกส่วนใหญ่ทำมาจากไข น้ำมัน และเม็ดสี ซึ่งส่วนผสมแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- ไขหรือแว็กซ์ จะช่วยให้ลิปสติกสามารถขึ้นรูปเป็นแท่งตามที่ต้องการ และทำให้เนื้อลิปกระจายตัวได้ง่ายขึ้นขณะทา
- น้ำมัน อาจเป็นน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันจากธรรมชาติอย่างลาโนลิน โกโก้บัตเตอร์ โจโจ้บา หรือน้ำมันละหุ่ง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสารให้ความนุ่มลื่นแก่ริมฝีปาก
- เม็ดสี มีหน้าที่ช่วยแต่งเติมสีสันของลิปสติก
นอกจากนี้ การเติมสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินลงไปในลิปสติกยังช่วยลดการเกิดกลิ่นหืนของส่วนผสมจากธรรมชาติด้วย และทางผู้ผลิตอาจใส่ส่วนผสมที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ลิปสติกที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น เช่น สารให้ความนุ่มลื่นที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำและช่วยให้สีของลิปสติกติดทนนาน หรืออาจเติมแร่ไมกาหรือซิลิกา เพื่อช่วยให้ลิปสติกมีความมันเงาและฉ่ำวาว เป็นต้น
ลิปสติกที่วางขายในปัจจุบันมีชนิดใดบ้าง ?
- ลิปสติกทั่วไป (Lipstick) ในอดีตลิปสติกจะเป็นแบบเนื้อแมทสีด้านที่มีเม็ดสีจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีลิปสติกประเภทนี้ให้เลือกมากมายหลากหลายสีและรูปแบบ ทั้งแบบฉ่ำวาว แบบเนื้อครีม แบบบางเบา รวมถึงเนื้อแมทแบบดั้งเดิมที่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ แต่หากเลือกใช้ลิปชนิดนี้อาจต้องทาซ้ำบ่อยครั้งและต้องเพิ่มความระมัดระวังเวลารับประทานอาหารด้วย เพราะสีของลิปสติกอาจหลุดออกแล้วไปติดตามหลอดดูดหรือกระทั่งผิวฟันได้
- ลิปกลอส (Lip Gloss) เป็นชนิดที่มีความมันเงาสูง ผู้ผลิตบางรายอาจเพิ่มกากเพชรหรือสารกันแดดลงไปเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปากแห้ง เพราะลิปกลอสจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น แต่อาจต้องทาซ้ำบ่อยครั้ง และอาจให้ความรู้สึกเหนอะหนะบริเวณริมฝีปากได้
- ลิปบาล์ม (Lip Balm) มีทั้งแบบที่มีสีและไม่มีสี อาจมีการเติมสารกันแดด วิตามินอี หรือเชียบัตเตอร์เข้าไป เพื่อเพิ่มความนุ่มชุ่มชื้นให้แก่ริมฝีปาก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีริมฝีปากแห้ง
- ลิปสเตน (Lip Stains) มีลักษณะค่อนข้างเหลวจึงอยู่ในรูปหลอดพร้อมแปรงจุ่ม เป็นชนิดที่แห้งไวและติดทนนานประมาณ 8-12 ชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้สีติดทนตลอดทั้งวัน แต่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอางในการลบออก รวมถึงอาจทำให้ริมฝีปากแห้งและแตกได้
- ลองแวร์ลิปสติก (Long Wear Lipstick) เป็นลิปสติกรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้ริมฝีปากมีสีติดทนนานมากยิ่งขึ้น มีลักษณะเป็นของเหลวที่บรรจุอยู่ในหลอดพร้อมแปรงจุ่มเช่นเดียวกับลิปสเตน เมื่อทาเสร็จแล้วลิปจะแห้งติดอยู่บนริมฝีปากได้นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง และต้องใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอางในการลบออก ซึ่งอาจทำให้ริมฝีปากแห้ง จึงต้องทาลิปกลอสทับด้านบนอีกครั้ง เพื่อให้ริมฝีปากสวยและไม่แตกเป็นร่อง
- ลิปไลน์เนอร์ (Lip Liner) มีลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินสอ ใช้สำหรับเขียนขอบปากเพื่อช่วยให้ลิปสติกไม่เลอะออกนอกริมฝีปากหรือผิวหนังในบริเวณใกล้เคียง และอาจใช้ทาทั้งริมฝีปากก่อนทาลิปสติกชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันสีลิปสติกเลือนจางในระหว่างการรับประทานอาหาร
หากเผลอกินลิปสติกเข้าไป จะเป็นอันตรายหรือไม่ ?
แม้การทาลิปสติกจะช่วยแต่งแต้มให้ริมฝีปากมีสีสันสวยงามน่ามอง แต่ส่วนผสมของลิปสติกอาจแฝงไปด้วยภัยจากโลหะหนักอย่างตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม อลูมิเนียม และโลหะเป็นพิษบางชนิด ทั้งนี้ มีการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทาลิปสติกและลิปกลอสที่พบว่า การใช้ลิปสติกในระดับปานกลางอาจทำให้ผู้บริโภคกลืนลิปสติกลงกระเพาะอาหารประมาณ 24 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับโครเมียมในปริมาณมาก โดยโครเมียมมีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ หากได้รับแมงกานีสในปริมาณมากก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาในระบบประสาทได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการสมองของผู้บริโภคในกลุ่มวัยรุ่น และผู้บริโภคที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ลิปสติกมากเป็นพิเศษด้วย เพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบปริมาณโลหะที่พบในลิปสติกกับโลหะที่ปนเปื้อนมากับอาหาร พบว่าปริมาณโครเมียมในลิปสติกที่ได้รับแต่ละวันมีค่าน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของโครเมียมที่ปนเปื้อนมากับอาหาร และปริมาณแมงกานีสในอาหารก็มีค่าสูงกว่า 1,000 เท่าของแมงกานีสที่ได้รับจากลิปสติก และตามปกติแล้วจะมีการกำหนดระดับมาตรฐานของโลหะที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ลิปสติก โดยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถใช้ลิปสติกได้อย่างปลอดภัย