ลิ่มเลือด เป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อห้ามเลือดในเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดหรือได้รับบาดเจ็บ ทว่าลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจไปอุดตันหลอดเลือดในอวัยวะต่าง ๆ อย่างแขน ขา ปอด ไต สมอง ลำไส้ หรือหัวใจ จนอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงชีวิตได้ ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เมื่อเกิดแผลขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เลือดที่ไหลออกมาจะสัมผัสกับสารเฉพาะที่อยู่บริเวณผิวหนังหรือผนังหลอดเลือด ซึ่งสารดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดโดยรอบมารวมตัวกันและเปลี่ยนรูปร่างเพื่อปิดส่วนที่ฉีกขาด โดยเกล็ดเลือดที่ปิดแผลอยู่จะปล่อยสารเคมีออกมา เพื่อส่งสัญญาณให้เกล็ดเลือดและสารอื่น ๆ มารวมตัวกันในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น
หลังจากนั้น โปรตีนในเลือดจะแข็งตัวเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสลายสารบางชนิดในเลือดให้กลายเป็นเส้นใยไฟบรินลักษณะคล้ายตาข่าย เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของเกล็ดเลือดที่รวมตัวกันอยู่ และเกล็ดเลือดที่จับกับเส้นใยไฟบรินเรียกว่า ลิ่มเลือด
ทั้งนี้ ร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดอื่นขึ้นมาเพื่อช่วยให้ลิ่มเลือดเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ต้องการและไม่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อเนื้อเยื่อส่วนที่ฉีกขาดหายเป็นปกติ กลไกของร่างกายจะสั่งให้เส้นใยไฟบรินและเลือดที่จับตัวเป็นก้อนค่อย ๆ สลายไป
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
นอกจากลิ่มเลือดจะเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อเกิดการฉีกขาด และเลือดไหลไปสัมผัสสารเฉพาะที่อยู่บริเวณผิวหนังหรือผนังหลอดเลือดแล้ว อาจเสี่ยงมีลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันได้จากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
- ตะกรันไขมันที่ผนังหลอดเลือดแตกหรือฉีกขาด หากมีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันนี้ภายในผนังหลอดเลือดแดงจนเป็นตะกรันหรือคราบพลัคไขมัน เมื่อผนังหลอดเลือดฉีกขาดจะส่งผลให้คอเลสเตอรอลรั่วไหลออกมา และกระตุ้นให้เกล็ดเลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดเพื่ออุดผนังหลอดเลือด ซึ่งหากเกิดภาวะนี้ขึ้นกับหลอดเลือดภายในหัวใจหรือสมอง อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
- เลือดไหลเวียนผิดปกติ เมื่อเลือดไหลเวียนช้าหรือผิดปกติ อาจส่งผลให้เลือดเกิดการรวมตัวกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว หรือภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน เป็นต้น
ลิ่มเลือดอุดตันมีอาการอย่างไร ?
เมื่อลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดและส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่มีการอุดตัน อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ ดังนี้
- ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณแขนหรือขา ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดระบม มีอาการบวมเฉพาะจุดที่ลิ่มเลือดอุดตัน บวมทั้งแขนหรือขา แขนขาเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือคล้ำลง และอาจเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด นอกจากนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่มีลิ่มเลือดอุดตันยังเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร และการเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรด้วย
- ลิ่มเลือดอุดตันบริเวณช่องท้อง มักเกิดขึ้นที่หลอดเลือดดำในลำไส้ อาจมีสาเหตุมาจากโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคตับ หรือจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้องรุนแรง อาเจียน บางครั้งอาจอาเจียนหรืออุจจาระแบบมีเลือดปน
- ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด มักเกิดจากลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่บริเวณแขนหรือขาหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันที่หลอดเลือดในปอด เรียกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด เหงื่อออก เวียนศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว หรือหมดสติ
- ลิ่มเลือดอุดตันที่ไต ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดช่องท้อง ขา หรือต้นขาข้างใดข้างหนึ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน มีไข้ คลื่นไส้หรืออาเจียน มีอาการบวมรุนแรงที่ขาอย่างเฉียบพลัน และหายใจลำบาก ทั้งนี้ ลิ่มเลือดที่อุดตันอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงจนทำให้ของเสียและของเหลวคั่งอยู่ภายในร่างกายและเกิดไตวายได้
- ลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกและอาจเจ็บลามไปถึงแขนซ้าย หายใจถี่ มีเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือหมดสติ
- ลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง อาจเกิดจากไขมันสะสมอยู่บริเวณผนังของหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง รวมถึงอาจมีลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่บริเวณช่องอกหรือลำคอหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้ โดยลิ่มเลือดที่อุดตันอาจทำให้การมองเห็นภาพและการพูดผิดปกติ มีอาการชัก อ่อนแรงและชาบริเวณใบหน้า แขน ขา หรือลำตัวข้างใดข้างหนึ่ง
ลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันดังข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมทันที
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
โดยปกติภาวะลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน มีอาการอักเสบเรื้อรัง กระดูกแขนหรือขาหัก ตับแข็ง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว หัวใจล้มเหลว มะเร็ง เป็นต้น
นอกจากปัจจัยดังกล่าว บุคคลบางกลุ่มก็อาจเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าคนทั่วไป เช่น
- ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือต้องนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานระหว่างโดยสารยานพาหนะเป็นระยะทางไกล หรืออยู่ในช่วงพักฟื้นหลังการผ่าตัด
- ผู้ที่คุมกำเนิดโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฮอร์โมนรวม เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น
- ผู้ที่มีประวัติเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือมีคนใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็นภาวะนี้
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
ลิ่มเลือดอุดตัน ป้องกันอย่างไร ?
ผู้ที่เสี่ยงเผชิญภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรลุกเดินเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะภาวะขาดน้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
- รับประทานผักและผลไม้ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และวิตามินอี
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือสวมถุงน่องที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติโดยเฉพาะ ซึ่งควรทำตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเสมอ