ลิ่มเลือดประจำเดือน คือเลือดประจำเดือนที่มีลักษณะเป็นก้อน เกิดขึ้นจากการที่เลือดประจำเดือนในมดลูกเกิดการแข็งตัวหรือจับตัวกันเป็นลิ่มและถูกขับออกมา โดยอาการมีโอกาสเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในช่วงอายุที่มีประจำเดือน
การเกิดลิ่มเลือดเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมาก โดยในกรณีลิ่มเลือดประจำเดือน บางครั้งอาการนี้ก็อาจเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย แต่ในบางครั้ง อาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติร้ายแรงได้
สาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดประจำเดือน
ในช่วงประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายจะส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณมดลูกมีการจับตัวกันหนาขึ้นและหลุดลอกออก จากนั้น ร่างกายจะขับเนื้อเยื่อที่หลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือดและเยื่อเมือกต่าง ๆ ผ่านทางปากมดลูกและช่องคลอด
ทั้งนี้ ในช่วงที่เนื้อเยื่อมดลูกกำลังหลุดลอกออกและรอการขับออกไป เนื้อเยื่อที่หลุดลอกจะสะสมอยู่ในมดลูกเพื่อให้ร่างกายผลิตสารบางชนิดที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือดออกมา ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสามารถขับเนื้อเยื่อดังกล่าวออกไปได้ง่ายขึ้น
โดยผู้ที่มีประจำเดือนอาจพบว่าประจำเดือนเป็นลิ่มได้ หากร่างกายขับเนื้อเยื่อมดลูกหรือเลือดประจำเดือนออกมาก่อนที่ร่างกายจะผลิตสารที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมามาก ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดประจำเดือนได้มากขึ้นอีกด้วย โดยสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะประจำเดือนมามากก็เช่น
- โรคไทรอยด์
- มีการอุดตันในมดลูก โดยอาจเป็นผลมาจากการเกิดเนื้องอกในมดลูก
- ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล เช่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ภายในร่างกายสูงหรือต่ำเกินไป
- มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่ผู้ที่มีประจำเดือนมาน้อยแต่พบการเกิดประจำเดือนเป็นลิ่มร่วมด้วย อาการประจำเดือนเป็นลิ่มก็อาจเป็นสัญญาณของโรคเลือดได้เช่นกัน
ลิ่มเลือดประจำเดือนอันตรายหรือไม่ เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
โดยทั่วไป อาการประจำเดือนเป็นลิ่มหรือประจำเดือนเป็นก้อนที่เกิดแบบครั้งคราวมักไม่เป็นปัญหาใด ๆ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจจะเพียงรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในช่วงวันที่ประจำเดือนมามากเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นและรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ จากการสูญเสียเลือดในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนเป็นลิ่มบ่อย ๆ หรือขนาดของลิ่มเลือดประจำเดือนใหญ่กว่าขนาดของลูกองุ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมามากร่วมด้วย หรือกำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากอาการในลักษณะนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้