ลิ้นหัวใจรั่วเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลิ้นหัวใจซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับประตูที่คอยเปิดและปิดเพื่อควบคุมการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจไม่สามารถปิดได้สนิท ทำให้เลือดที่ควรจะไหลไปข้างหน้าไหลย้อนกลับ ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้แก่ร่างกายอย่างเพียงพอ และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือการเสียชีวิตได้ด้วย.
ลิ้นหัวใจรั่วสามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด แต่อาการอาจเริ่มปรากฏในตอนโตเมื่อลิ้นหัวใจได้รับความเสียหายมากขึ้นจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเพียงพออีกต่อไปแล้ว หรือในบางกรณี หากลิ้นหัวใจรั่วมีความรุนแรงมากก็อาจแสดงอาการตั้งแต่ตอนเด็กได้เช่นกัน อาการลิ้นหัวใจรั่วที่มักพบในเด็ก เช่น ตัวม่วง ริมฝีปากม่วง และเจริญเติบโตล่าช้า
ลิ้นหัวใจรั่วเกิดจากอะไร
ในบางกรณีลิ้นหัวใจรั่วอาจเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด แต่ในบางกรณีลิ้นหัวใจรั่วก็สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังจากปัจจัยสุขภาพต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ การบาดเจ็บที่หัวใจทำให้หัวใจผิดรูป การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็งบริเวณใกล้เคียงทรวงอก รวมถึงการเสื่อมลงของลิ้นหัวใจตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยสุขภาพบางอย่างอาจมีความเสี่ยงในการเกิดลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้น ดังนี้
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการฉายรังสี
- ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วหรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจระยะเริ่มต้น
- ผู้ที่มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีความเครียด
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของลิ้นหัวใจรั่ว
ในหลายกรณี ภาวะลิ้นหัวใจรั่วที่ไม่รุนแรงอาจไม่มีอาการใดแสดงออกมาเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาวะลิ้นหัวใจรั่วอาจรุนแรงมากขึ้น และสามารถนำไปสู่การเกิดอาการทางร่างกายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
- รู้สึกเหนื่อยล้าหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ
- หายใจถี่ หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือนอนราบ
- ขา ข้อเท้า หรือเท้ามีอาการบวม หรือมีของเหลวคั่งอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ลิ้นหัวใจรั่วอันตรายไหม อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์
ภาวะลิ้นหัวใจรั่วถือเป็นภัยเงียบที่สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่ร้ายแรงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากในบางกรณีภาวะลิ้นหัวใจรั่วอาจไม่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวเมื่อเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วในช่วงเริ่มต้น และจะรู้ตัวเมื่อเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายแล้ว
ดังนั้นหากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- หายใจถี่อย่างกะทันหันและรุนแรง
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หน้ามืดและเป็นลม
อย่างไรก็ตาม ภาวะลิ้นหัวใจรั่วสามารถรักษาให้หายขาดได้ และในปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การซ่อมแซม หรือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ดังนั้นทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม