ลิ้นเป็นตุ่มคืออาการที่เกิดตุ่มลักษณะต่าง ๆ บริเวณลิ้น โดยอาจเป็นตุ่มนูนแดงหรือขาว บางครั้งอาจมีหนองอยู่ภายใน หรือมีแผลแตกร่วมด้วย มักทำให้รู้สึกเจ็บและแสบร้อน อาการลิ้นเป็นตุ่มจึงอาจรบกวนการกินอาหารหรือเครื่องดื่ม การรู้สาเหตุของลิ้นเป็นตุ่มจะช่วยให้ดูแลรักษาได้อย่างตรงจุด
ลิ้นเป็นตุ่มเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุอาจหายได้เองในเวลาสั้น ๆ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ลิ้นเป็นตุ่มยุบลงและหายเร็วขึ้น แต่หากมีอาการเจ็บปวดมาก หรือตุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยุบลง อาจเป็นสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์และรับการรักษา
สาเหตุของลิ้นเป็นตุ่ม
ลิ้นเป็นตุ่มเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. การบาดเจ็บที่ลิ้น
การบาดเจ็บที่ลิ้นมักเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น รีบเคี้ยวอาหารแล้วเผลอกัดลิ้น กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด ซึ่งทำให้ลิ้นเป็นตุ่ม ลิ้นพอง บวมแดง รู้สึกเจ็บปวด และอาจมีเลือดออก อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แล้วจะหายไปเอง
2. ร้อนใน (Canker Sores)
ร้อนใน หรือแผลในปาก มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีขาวออกเหลือง รอบแผลเป็นสีแดง มักเกิดบริเวณลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
ลิ้นเป็นตุ่มที่เกิดจากร้อนในมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยที่กระตุ้น เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ การบาดเจ็บที่ลิ้นหรือในช่องปาก การขาดวิตามิน เป็นต้น ซึ่งร้อนในมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
3. เริมที่ปาก (Oral Herpes)
เริมที่ปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ทำให้เกิดตุ่มที่ลิ้น เหงือก และบริเวณรอบปาก ซึ่งติดจากคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ผ่านน้ำลายจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน หรือการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การจูบ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
ลิ้นเป็นตุ่มจากเริมมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กกระจุกตัวกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อตุ่มน้ำแตกออก แผลจะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ดแล้วหายไป ใช้เวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้มีตุ่มเริมที่ปากสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนอื่นได้
4. เชื้อราในช่องปาก (Oral Thrush)
การติดเชื้อราในช่องปากพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้ลิ้นเป็นตุ่มหรือคราบสีภายในช่องปาก ซึ่งเช็ดออกยาก และหากพยายามขัดถูอาจทำให้มีเลือดไหลได้ คนที่มีเชื้อราในช่องปากอาจรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายในช่องปากขณะกินอาหารและดูดนม
5. ซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย อาการในระยะแรกมักมีลักษณะเป็นแผลขนาดเล็กในช่องปากและลิ้น โดยไม่มีอาการเจ็บปวด แผลมีลักษณะเรียบและแข็ง ที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) และอาจเกิดแผลเปิดที่อวัยเพศด้วย
แผลต่าง ๆ จะหายไปภายใน 3–6 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษา โรคจะเข้าสู่ระยะถัดไป ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นขึ้นตามตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผมร่วง น้ำหนักลด และอาจเกิดอาการเกี่ยวกับระบบประสาทด้วย
6. โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever)
ไข้อีดำอีแดงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) ทำให้ลิ้นบวมแดง ลิ้นเป็นตุ่ม และมีฝ้าขาวขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นตามตัว มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดหัว เจ็บคอและคอแดงมาก กลืนลำบาก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
7. ต่อมรับรสของลิ้นบวม (Transient Lingual Papillitis)
โดยปกติแล้ว ลิ้นจะมีปุ่มขนาดเล็ก (Papillae) อยู่จำนวนมาก ซึ่งประกอบด้วยต่อมรับรส หากปุ่มที่ลิ้นอาจเกิดการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด การกินอาหารรสเปรี้ยวจัด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จะทำให้ลิ้นเป็นตุ่มขนาดเล็กสีแดงหรือขาว บางครั้งทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือแสบร้อนด้วย อาการมักหายได้เองในเวลาไม่นาน แต่ก็อาจจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้
8. อาการแพ้ (Allergies)
อาการแพ้อาหารและภาวะที่ร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ (Food Intolerance) อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลิ้นเป็นตุ่มได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปากและลำคอบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เกิดผื่นตามร่างกาย
9. มะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปากเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลิ้นเป็นตุ่ม โดยพบได้ทุกส่วนในช่องปากและลำคอ รวมถึงลิ้น ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือเซลล์มะเร็งสะความัส (Squamous Cell Carcinomas)
มะเร็งช่องปากมักทำให้เกิดปื้นขาวหรือแดงในปาก เกิดตุ่มหรือก้อนนูนสีชมพู แดง เทาบริเวณด้านข้างของลิ้น ซึ่งมักทำให้รู้สึกเจ็บปวด และเลือดออกได้ง่ายเมื่อสัมผัสโดน หากมะเร็งเกิดที่โคนลิ้นอาจสังเกตได้ยากในระยะแรก ผู้ป่วยมักทราบจากความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดภายหลังเมื่อเวลาผ่านไป
การบรรเทาอาการลิ้นเป็นตุ่ม
การดูแลตัวเองอาจช่วยบรรเทาอาการลิ้นเป็นตุ่มให้หายดีได้เร็วขึ้น ดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหารที่ร้อนจัด มีรสเปรี้ยวหรือเผ็ดจัดในช่วงที่ลิ้นเป็นตุ่ม เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บลิ้น
- ใช้น้ำเกลือบ้วนปาก โดยผสมเกลือ ¼–½ ช้อนชากับน้ำอุ่นประมาณ 240 มิลลิลิตร น้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยกำจัดเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ในช่องปากและลำคอ และบรรเทาอาการอักเสบเมื่อมีแผลในปากและลิ้นเป็นตุ่ม
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม งดใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) และงดใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง
- ใช้ยาทาแผลในปาก หรือกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ซึ่งหาซื้อได้เองตามร้านขายยา
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ลิ้นเป็นตุ่มเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นตุ่มขนาดเล็ก และอาจไม่สังเกตเห็นหากไม่เกิดความเจ็บปวด ตุ่มที่ลิ้นและในช่องปากมักดีขึ้นหลังจากดูแลช่องปากและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นการระคายเคืองและอักเสบ แต่กรณีที่ลิ้นเป็นตุ่มไม่หายไปหรือเป็น ๆ หาย ๆ ตุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือกระจายเป็นบริเวณกว้างรู้สึกเจ็บปวดมาก และมีเลือดออกในปาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป