ลิ้นเป็นฝ้าขาว รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือ

ลิ้นเป็นฝ้าขาว หรืออาการที่บริเวณผิวลิ้นมีคราบสีขาวปกคลุมอยู่ ซึ่งคราบดังกล่าวอาจปกคลุมลิ้นเพียงบางส่วน บางคลุมทั้งหมดของลิ้น หรืออาจมีลักษณะเป็นจุด ๆ เป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนควรทำความรู้จักและสังเกต เนื่องจากลิ้นเป็นฝ้าขาวอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกายได้

คราบฝ้าขาวบนลิ้นเป็นคราบที่เกิดจากการสะสมของเซลล์ที่ตายแล้วกับเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ระหว่างตุ่มบนผิวลิ้นที่มีอาการบวมหรือการอักเสบอยู่ โดยสาเหตุของอาการนี้สามารถเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไปจนถึงสาเหตุที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ 

ลิ้นเป็นฝ้าขาว

สาเหตุของอาการลิ้นเป็นฝ้าขาว

ในบางครั้งอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวก็อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงมาก อย่างการรักษาความสะอาดช่องปากที่ไม่ดี การสูบบุหรี่ การหายใจทางปากบ่อย ๆ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภาวะขาดน้ำ ภาวะปากแห้ง การรับประทานผักหรือผลไม้ที่น้อยเกินไป การรับประทานยาปฏิชีวนะ หรืออาจเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีไข้

อย่างไรก็ตาม อาการลิ้นเป็นฝ้าขาวในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพบางอย่างได้เช่นกัน โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. โรคฝ้าขาว (Leukoplakia)

ผู้ที่มีโรคนี้มักพบรอยฝ้าสีขาวในช่องปากที่เช็ดหรือทำความสะอาดไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นลิ้น เหงือก ใต้ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เช่น การสูบบุหรี่จัด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

2. เชื้อราในปาก (Oral Thrush)

เชื้อราในปากเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เชื้อราแคนดิดา (Candida) ที่อยู่ในช่องปากเจริญเติบโตมากผิดปกติ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ก็เช่น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะปากแห้ง 

ทั้งนี้ นอกจากอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวแล้ว ผู้ที่มีเชื้อราในปากอาจพบรอยคราบขาวที่บริเวณอื่นด้วยเช่นกัน เช่น กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือเหงือก

3. ภาวะไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral Lichen Planus)

ภาวะไลเคนพลานัสในช่องปากเป็นภาวะอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อในช่องปาก ซึ่งผู้ป่วยมักพบอาการแสดงในลักษณะลิ้นเป็นฝ้าขาวและอาจมีอาการเจ็บเหงือกร่วมด้วย ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

4. ซิฟิลิส (Syphilis)

ซิฟิลิสเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) โดยเชื้อนี้จะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับแผลบริเวณช่องคลอด ช่องปาก หรือรูทวารของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรงขณะมีเพศสัมพันธ์

นอกจากอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นซิฟิลิสยังอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย โดยที่พบได้บ่อยก็คือ เกิดแผลในช่องปาก

5. ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid Fever)

ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ซึ่งมักพบได้ในอุจจาระและปัสสาวะของผู้ที่ติดเชื้อ หรืออาหารที่ไม่ได้ทำความสะอาดหรือปรุงให้สุกดีก่อน โดยนอกจากอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวแล้ว อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสีย รวมถึงอาจเกิดอาการท้องบวม หากไม่ได้รับการรักษา

6. มะเร็งในช่องปาก

อาการลิ้นเป็นฝ้าขาวอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย เช่น มะเร็งช่องปาก หรือมะเร็งลิ้น โดยในกรณีมะเร็งช่องปาก อาจพบอาการ เช่น เกิดแผลตามริมฝีปากหรือในช่องปาก ซึ่งแผลมักเกิดแบบเรื้อรังและไม่ดีขึ้น ฟันโยก คลำพบก้อนเนื้อในช่องปาก เจ็บหู และเจ็บขณะกลืน

ส่วนมะเร็งลิ้น อาการแรกเริ่มมักจะเป็นอาการเกิดแผลในช่องปากหรือลิ้นในลักษณะเรื้อรังและไม่ดีขึ้น ก่อนจะค่อย ๆ เกิดอาการอื่นตามมา เช่น เจ็บหรือมีเลือดออกในช่องปาก คลำพบก้อนบริเวณลิ้น เจ็บคอเรื้อรัง รู้สึกเหมือนมีอะไรติดที่คอ ขากรรไกรบวม และเสียงเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ตัวอย่างที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวยังอาจเกิดขึ้นได้จากโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นได้เช่นกัน เช่น ภาวะลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue) หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการลิ้นเป็นฝ้าขาว

โดยหลาย ๆ ครั้ง อาการลิ้นเป็นฝ้าขาวมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรงใด ๆ และมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยในช่วงนี้ให้พยายามแปรงฟันและแปรงลิ้นเพื่อรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการรับประทานอาหารรสเผ็ด อาหารที่มีเกลือเยอะ และอาหารที่ร้อนจัด

ทั้งนี้ หากอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปสักประมาณ 2–3 สัปดาห์ ผู้ที่มีอาการนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บลิ้น คันลิ้น มีไข้ขึ้น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีผื่นขึ้น รับประทานอาหารหรือพูดลำบาก หรือเกิดแผลในช่องปาก