ลิ้นไม่รับรสน่าจะเป็นอาการที่หลายคนอาจจะเคยเจอมาบ้างในช่วงที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัด แต่ในกรณีนี้ คนที่มีอาการน่าจะพบว่าอาการลิ้นไม่รับรสจะค่อย ๆ หายได้เองเมื่อเริ่มหายจากไข้หวัด อย่างไรก็ตาม อาการลิ้นไม่รับรสก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างที่มีความรุนแรงได้เช่นกัน
ลิ้นไม่รับรส หรือการสูญเสียการรับรส (Ageusia) เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งในแต่ละสาเหตุก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป โดยผู้ที่มีอาการนี้ส่วนใหญ่มักพบว่าอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองหลังจากที่ได้รับการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่เป็นสาเหตุ
สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการลิ้นไม่รับรส
ลิ้นไม่รับรสสามารถเกิดได้จากหลายโรค โดยตัวอย่างโรคที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
1. ไข้หวัด
ไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดจากการที่อวัยวะบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก ลำคอ ไซนัส และหลอดลม เกิดการติดเชื้อ โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุสามารถเป็นได้หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยจะเป็นเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses)
ส่วนอาการของโรคไข้หวัดที่อาจพบได้ก็เช่น อาการเจ็บคอ คัดจมูก จาม มีไข้ และปวดศีรษะ
2. โควิด–19 (Covid–19)
โควิด–19 เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS–CoV–2) โดยอาการลิ้นไม่รับรสก็ถือเป็นหนึ่งในอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยบางคน
อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่มักส่งผลให้ผู้ที่ป่วยแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกันไป แต่ที่มักพบได้ก็เช่น อาการไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดตามร่างกาย ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย
3. ไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เยื่อบุไซนัส ซึ่งมีอยู่ที่บริเวณหน้าผาก แก้ม และจมูก เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อ โดยเชื้อที่เป็ยสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรืออาจเป็นสารก่อภูมิแพ้
โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ นอกจากอาการลิ้นไม่รับรสแล้ว ังอาจพบอาการอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ ปวดใบหน้า คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดฟัน ไอ มีกลิ่นปาก และมีไข้
4. ริดสีดวงจมูก
ริดสีดวงจมูกเป็นโรคที่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีตุ่มเนื้อขึ้นที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูก หรือไซนัส โดยโรคนี้มีสาเหตุมาจากการอักเสบอย่างเรื้อรังจากโรคบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ โรคหืด โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน หรือการติดเชื้อ
นอกจากอาการลิ้นไม่รับรสแล้ว อาการจากโรคริดสีดวงจมูกก็เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล นอนกรน ปวดใบหน้า ปวดศีรษะ ปวดฟันบน และมีเลือดกำเดาไหลบ่อย
5. โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการที่หลอดเลือดสมองเกิดการอุดตัน หรืออาจเกิดจากการที่หลอดเลือดสมองแตก
โดยอาการของโรคหลอดเลือดสมองก็เช่น
- รู้สึกชาที่ใบหน้า แขน หรือขาอย่างฉับพลัน โดยอาการมักเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- เวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะขั้นรุนแรง
- เดินลำบาก พูดลำบาก สับสน
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีความรุนแรง ผู้ที่เกิดอาการในข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที
6. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติโดยการไปทำลายปลอกประสาทที่ปกคลุมใยประสาทของร่างกาย
โดยอาการของโรคนี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับบริเวณใยประสาที่เกิดความเสียหาย แต่ที่พบได้บ่อยก็เช่น ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมีอาการเจ็บหรือมองเห็นภาพเบลอ ทรงตัวลำบาก พูดลำบาก บ้านหมุน
7. ปลายประสาทอักเสบ
ปลายประสาทอักเสบเป็นภาวะที่เส้นประสาทที่อยู่ภายนอกสมองและไขสันหลังเกิดความเสียหาย โดยอาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนตามชนิดของเส้นประสาทที่มีปัญหา เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัวไม่อยู่ หรือรู้สึกเจ็บปวดตามร่างกาย
8. พาร์กินสัน
พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ประสาทบางชนิดในสมองเสื่อมตัวลงหรือตาย จนส่งผลให้สารสื่อประสาทโดพามีนลดลง โดยอาการของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็เช่น มือสั่น กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง หรือเคลื่อนไหวช้าผิดปกติ
9. ขาดสารอาหารบางชนิด
การขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะสังกะสีและวิตามินบี 12 อาจส่งผลให้เกิดอาการลิ้นไม่รับรสได้
ทั้งนี้ ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจขาดสารอาหาร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมใด ๆ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมและความปลอดภัยต่อร่างกาย
10. การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาเกิดผลข้างเคียง อย่างลิ้นไม่รับรส ตามมาได้ โดนตัวอย่างยาที่อาจพบได้ก็เช่น ยาลิเทียม (Lithium) กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน กลุ่มยาต้านฮิสตามีน ยาปฏิชีวนะ กลุ่มยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด กลุ่มยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง กลุ่มยารักษาโรคไทรอยด์ และยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังใช้ยาใด ๆ อยู่แล้วเกิดอาการลิ้นไม่รับรสไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางการรับมือที่เหมาะสมให้
ทั้งนี้ นอกจากตัวอย่างสาเหตุของอาการลิ้นไม่รับรสที่ได้กล่าวไป อาการนี้ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น การกระทบกระเทือนที่ศีรษะ การได้รับสารเคมีบางชนิด ภาวะปากแห้ง ลิ้นเกิดการบาดเจ็บ ภาวะเบาหวาน ภาวะน้ำหนักตัวเกิด ภาวะความดันโลหิตสูง อัลไซเมอร์ และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน
คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการลิ้นไม่รับรส
ในกรณีที่อาการลิ้นไม่รับรสเกิดจากโรคไข้หวัด อาการมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง อย่างไรก็ตาม จากตัวอย่างที่ได้ยกไปในข้างต้น อาการลิ้นไม่รับรสก็อาจเป็นสัญญาณของโรครุนแรงอื่น ๆ ได้เช่นกัน อีกทั้งในบางคน อาการนี้ยังอาจส่งผลให้มีความอยากอาหารน้อยลงจนขาดสารอาหารได้
ดังนั้น ผู้ที่มีอาการลิ้นไม่รับรสที่ไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรืออาการเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ผู้ที่มีอาการควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
แต่หากผู้ที่มีอาการลิ้นไม่รับรสมีอาการที่เกิดร่วมด้วยที่รุนแรง เช่น หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสน ใบหน้าหรือริมฝีปากซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่รุนแรงได้