ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท สาเหตุและเคล็ดลับกล่อมลูกนอนที่พ่อแม่ควรรู้

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงแรกเกิด โดยอาการบิดตัวระหว่างหลับเป็นพัฒนาการในสมองและระบบประสาทของลูกเพื่อเรียนรู้การใช้งานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงไม่ใช่อาการที่น่ากังวล แต่อาการบิดตัวขณะหลับก็อาจมาจากสาเหตุอื่น หรือมาพร้อมการร้องไห้ตื่นขึ้นมากลางดึกได้เช่นกัน 

ระยะเวลานอนที่จำเป็นสำหรับเด็กทารกในแต่ละวัยแตกต่างกัน โดยเด็กแรกเกิดในช่วงสองเดือนแรกจะนอน 15–16 ชั่วโมง และมักนอนเป็นช่วงสั้น ๆ ทำให้ตื่นบ่อย ก่อนจะค่อย ๆ นอนยาวขึ้นและตื่นน้อยลงตามการเจริญเติบโต ซึ่งระหว่างหลับทารกก็อาจแสดงอาการบิดตัวไปมา หรือส่งเสียงร้องเล็กน้อยได้โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่อาการบิดตัวก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่พ่อแม่ควรรู้เพื่อให้พร้อมรับมือ

Child Twists and Turns

6 สาเหตุของอาการลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท 

อาการลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิทเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องมาจากสมองและระบบประสาทของลูกยังอยู่ในช่วงพัฒนาการ แต่อาการบิดตัวก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนี้

1. หิวนม

อาการลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิทอาจมาพร้อมกับอาการร้องไห้จนตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากความหิวได้ โดยเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 4 เดือนนั้นสามารถย่อยอาหารได้ไว จึงมักจะต้องการดื่มนมทุก 2–3 ชั่วโมง หากก่อนนอนยังไม่ได้ให้นม ลูกก็อาจตื่นขึ้นมาบิดตัวร้องไห้หลังนอนไปไม่กี่ชั่วโมงได้

2. สภาพแวดล้อม

ห้องที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป ผ้าอ้อมที่เต็มหรือเปียกแฉะอาจทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัว จนลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท และอาจร้องไห้เพื่อบอกให้พ่อแม่รู้และช่วยเหลือได้ ดังนั้นการช่วยให้ลูกสบายตัวด้วยเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปูที่นอนให้สะอาดและแห้ง รวมถึงการปรับอุณหภูมิห้องให้ไม่ร้อน ไม่เย็นจนเกินไปจะช่วยให้ลูกหลับสนิทขึ้นได้ 

นอกจากนี้ การปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมยังช่วยลดความเสี่ยงภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) และร่างกายขาดน้ำ (Overheat) ได้อีกด้วย 

3. ไม่รู้กลางวันกลางคืน

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท อาจเนื่องมาจากลูกยังไม่รู้ว่าเวลาไหนคือกลางวันหรือกลางคืน และเวลาไหนควรเป็นเวลานอนกันแน่ ทำให้ลูกอาจหลับในช่วงกลางวันและตื่นในเวลากลางคืนแทน การดูแลให้ลูกเรียนรู้เวลาที่ควรเข้านอนและเวลาที่ควรตื่นมาเล่น จะช่วยให้ลูกหลับสนิทในเวลากลางคืนได้มากขึ้น 

4. โคลิค

โคลิคคืออาการที่ลูกร้องไห้งอแงอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสาเหตุและไม่มีทีท่าว่าจะปลอบได้ เมื่อลูกเป็นโคลิค อาจส่งผลให้มีแก๊สในกระเพาะเยอะ เนื่องจากสูดอากาศไปมากระหว่างร้องไห้ รวมถึงมีอาการลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิทด้วย อาการโคลิคมักจะเกิดเมื่อลูกอายุได้ 6 สัปดาห์ และหายไปเองเมื่อลูกอายุ 3–4 เดือน โดยอาการร้องไห้ไม่หยุดนี้มักจะยาวนานกว่า 3 ชั่วโมง และเกิดต่อเนื่องมากกว่า 3 สัปดาห์

สาเหตุของโคลิคยังไม่แน่ชัด แต่คาดเดาว่าอาจเกิดจากลูกยังปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและโลกรอบตัวไม่ได้ จึงร้องไห้เป็นการแสดงออก หรืออาจเกิดจากถูกกระตุ้นมากไป ดื่มนมมากไป (Overfeeding) ดื่มนมน้อยไป (Underfeeding) รวมถึงอาจเกิดจากอาการแพ้อาหารได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม โคลิคไม่ใช่อาการที่น่ากังวลและมักจะหายไปเองเมื่อลูกโตขึ้น 

5. ลูกไม่สบาย

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิท และตื่นขึ้นมากลางดึกอาจเกิดจากลูกมีไข้ ท้องอืด หรือท้องผูกได้ หากลูกตัวร้อน ขยี้ตา หู หรือจมูกตัวเอง และร้องไห้โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถปลอบให้สงบลงได้ พ่อแม่ควรวัดไข้เพื่อตรวจสอบอาการ และควรไปพบแพทย์ทันทีหากลูกอายุต่ำกว่าสามเดือน แต่ถ้าลูกอายุมากกว่านั้นควรไปพบแพทย์ทันทีหากลูกมีไข้ถึง 39 องศา 

นอกจากนี้ หากลูกมีอาการท้องผูกต่อเนื่องหลายวัน มีอาการอึดอัดไม่สบายตัว หรือมีอาการอาเจียนและท้องอืดร่วมด้วย ควรพาลูกไปพบแพทย์ในทันที 

6. ภาวะการนอนถดถอย (Sleep Regression)

ภาวะการนอนถดถอยคือภาวะของเด็กที่สามารถหลับเป็นเวลาได้แล้วแต่กลับเริ่มตื่นกลางดึกทุก 2–3 ชั่วโมง หรือไม่ยอมนอนตามเวลาอีกครั้ง โดยภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตและเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังจะมีพัฒนาการใหม่ ๆ เช่น การพลิกตัว การนั่ง หรือการคลาน ภาวะนี้มักจะเกิดในช่วงที่ลูกอายุ 4 เดือน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ จนอายุ 2 ขวบ 

ในช่วงภาวะการนอนถดถอย อาการลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิทอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาจมีอาการร้องไห้งอแง หลับยาก นอนกลางวันน้อยลงด้วยเช่นกัน 

วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับสนิทได้มากขึ้น

เนื่องจากการนอนหลับเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการเกี่ยวกับสมอง ระบบประสาท และความจำของลูกน้อย พ่อแม่จึงอาจใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อช่วยให้ลูกนอนหลับเต็มอิ่มและสบายตัวมากขึ้น 

  • ช่วยให้ลูกรู้จักเวลากลางวันกลางคืน ด้วยการเล่นกับลูกตอนกลางวันหรือหลังให้นม เพื่อให้ลูกตื่นนานขึ้นอีกหน่อย หรือให้ลูกเจอกับแสงแดดจากการออกไปข้างนอก หรือจากแสงที่ส่องผ่านหน้าต่าง เมื่อถึงเวลากลางคืน ปิดไฟในห้อง หรือลดแสงและเสียงให้น้อยลงเพื่อไม่ให้รบกวน
  • ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม โดยอุณหภูมิห้องควรอยู่ที่ประมาณ 20–22 องศา ในการปรับอาจใช้พัดลมช่วยลดความร้อน หรือใช้ผ้าห่มช่วยลดความเย็น แต่ควรระวังไม่หันพัดลมหาลูก และหันขึ้นเพดานแทน 
  • สังเกตอาการง่วงของลูกอย่างการขยี้ตา แล้วนำลูกเข้านอนในเปลหรือเบาะนอนโดยที่ยังไม่หลับในทันที เพื่อช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น 
  • ห่อตัวลูกด้วยผ้าห่มหรือผ้าห่อตัวซึ่งจะช่วยให้หลับง่ายขึ้น โดยควรระวังไม่ให้ผ้าห่อตัวแน่นเกินไป และไม่ควรใช้เมื่อลูกเริ่มแสดงสัญญาณของการพลิกตัว
  • สร้างกิจวัตรประจำวันก่อนเข้านอนสำหรับลูกน้อยที่อายุได้ 3 เดือนแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและเข้านอนได้ง่ายขึ้น โดยกิจวัตรที่สามารถทำได้มีหลายอย่าง เช่น อาบน้ำ เปลี่ยนไปใส่ชุดนอน ร้องเพลงกล่อม หรือจูบราตรีสวัสดิ์
  • ถ้าลูกมีอาการท้องอืดเนื่องจากแก๊สเยอะ สามารถใช้วิธีจับลูกให้ตั้งตรงหลังดื่มนมเพื่อให้เรอเอาแก๊สออกมา ซึ่งจะช่วยให้ลูกไม่อึดอัดและงอแงเวลานอนได้
  • สำหรับอาการโคลิค พ่อแม่อาจลองปลอบด้วยการอุ้มลูกเดินไปมา ร้องเพลงกล่อม หรือให้ดูของที่มีสีสันหรือรูปร่างน่าสนใจ
  • หากลูกอยู่ในภาวะการนอนถดถอย พ่อแม่อาจช่วยให้ลูกหลับด้วยการให้ดื่มนมอย่างเพียงพอในเวลากลางวันเพื่อป้องกันการตื่นเพราะหิว หรืออาจใช้วิธีพาลูกเข้านอนตั้งแต่เริ่มง่วง และสร้างห้องที่มีบรรยากาศสงบเหมาะแก่การนอนได้เช่นกัน 

ลูกบิดตัวบ่อย หลับไม่สนิทเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ขณะหลับ พ่อแม่จึงไม่ต้องเป็นกังวลเมื่อพบเห็นอาการนี้ในลูกน้อย อย่างไรก็ตาม หากอาการนี้เกิดพร้อมกับการร้องไห้อย่างหนัก มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน หรือดูไร้เรี่ยวแรงกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์ในทันที