ทำไมลูกหัวแบน ทำอย่างไรให้ลูกหัวสวย

ลูกหัวแบนเป็นภาวะผิดปกติที่ศีรษะของทารกจะมีลักษณะแบนกว่าปกติ อาจเกิดขึ้นเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะหรือเกิดขึ้นกับบริเวณอื่นของศีรษะด้วย หากอาการรุนแรงอาจสังเกตเห็นหน้าผากของเด็กยื่นออกมาผิดปกติในทิศทางตรงกันข้ามกับศีรษะบริเวณที่เกิดรอยแบนร่วมด้วย

ช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจดูลักษณะศีรษะของเด็กได้ง่าย คือ ช่วงหลังอาบน้ำหรือช่วงที่ผมของเด็กยังเปียกอยู่ โดยกะโหลกส่วนหลังของทารกควรจะกลมพอ ๆ กัน ใบหูอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งด้านหน้าและด้านบน ความกว้างของหน้าผากและศีรษะควรพอดีกันและมีความสมมาตร 

ทำไมลูกหัวแบน ทำอย่างไรให้ลูกหัวสวย

ลูกหัวแบนเกิดจากอะไร

ทารกในช่วงอายุประมาณแรกเกิดถึงประมาณ 4 เดือน กะโหลกศีรษะของทารกจะค่อนข้างนิ่มและไม่เชื่อมติดกัน เพื่อช่วยให้ศีรษะของทารกสามารถเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอดขณะทำคลอดได้ รวมถึงช่วยรองรับการขยายตัวและการเจริญเติบโตของสมอง เมื่อทารกอายุประมาณ 2 ขวบ กระดูกกะโหลกศีรษะของทารกจะเชื่อมติดกันได้เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กะโหลกศีรษะของทารกยังค่อนข้างนิ่มและยืดหยุ่นได้ การได้รับแรงกดทับบริเวณศีรษะบางจุดนาน ๆ จากสาเหตุต่าง ๆ อาจส่งผลให้ลูกหัวแบนได้ แต่ภาวะนี้มักไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อสมองหรือพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กอย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจ

โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวแบนมักมาจาก 

  • การคลอดทางช่องคลอด ศีรษะของทารกอาจถูกแรงกดทับขณะเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด
  • การนอนท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้ศีรษะของทารกด้านที่แนบกับพื้นมีลักษณะแบนได้
  • การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีกะโหลกศีรษะที่นิ่มกว่าปกติ และมักต้องนอนท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเกิดภาวะหัวแบนตามมา
  • เกิดแรงกดทับขณะอยู่ในครรภ์ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น การตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือมีน้ำคร่ำในครรภ์ที่ช่วยป้องกันศีรษะน้อยผิดปกติ 
  • ภาวะคอเอียง (Torticollis) เป็นภาวะที่คอด้านใดด้านหนึ่งตึงหรือเกร็งมากผิดปกติจนหันหน้าลำบาก โดยทารกมักหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว ส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวแบนตามมา

นอกจากนี้ ภาวะลูกหัวแบนยังอาจเป็นผลมาจากการที่กระดูกกะโหลกศีรษะของทารกเกิดการเชื่อมติดกันก่อนวัย ส่งผลให้กระดูกกะโหลกศีรษะของทารกเกิดการผิดรูปได้ โดยทางการแพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ (Craniosynostosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์

แก้ไขอย่างไรเมื่อลูกหัวแบน

คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกหัวแบนอาจลองเปลี่ยนทิศทางการหันศีรษะของลูกขณะลูกนอนหลับ โดยจัดท่าทางให้ศีรษะฝั่งที่ไม่แบนแนบกับหมอนแทน แต่ไม่ควรให้ลูกนอนหลับท่าคว่ำแม้จะเห็นว่าลูกหัวแบน เนื่องจากท่านอนคว่ำอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตาย (Sudden Infant Death Syndrome) ได้

ในระหว่างวันที่ลูกยังตื่นอยู่ ควรช่วยให้ลูกได้เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ โดยอาจจะให้เด็กอยู่ในท่าคว่ำตัว ท้องสัมผัสพื้น หรือหมั่นอุ้มลูกบ่อย ๆ และคุณแม่ควรปรับเปลี่ยนท่าให้นมลูกสลับกันไป เพื่อให้ลูกไม่ต้องอยู่ในท่าเดิมบ่อยครั้ง

แม้ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะลูกหัวแบนจะมักไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมอง และพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก ไม่ต้องการการรักษาแต่อย่างใด แต่เด็กที่มีภาวะหัวแบนมักมีภาวะคอเอียงร่วมด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตของเด็กได้

คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกหัวแบน โดยเฉพาะเมื่อลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือเห็นว่า เด็กมีภาวะหัวแบนที่ค่อนข้างรุนแรง ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยปรับกะโหลกศีรษะ หรืออาจผ่าตัดหากจำเป็น โดยเด็กควรได้รับการดูแลตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ เนื่องจากกะโหลกศีรษะยังสามารถปรับหรือรักษาได้ไม่ยากนัก