วัคซีนบาดทะยัก เป็นวิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่มีประสิทธิภาพที่สุด และจัดเป็นวัคซีนในโปรแกรมพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับการฉีด ส่งผลให้ในปัจจุบันมีแนวโน้มอัตราการป่วยและการตายจากโรคบาดทะยักลดลงอย่างมาก วัคซีนบาดทะยักมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดควรฉีดเมื่อไร ศึกษาได้จากบทความนี้
โรคบาดทะยักเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) ซึ่งพบได้ตามพื้นดิน ฝุ่น สิ่งสกปรก หรือมูลสัตว์ และสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลชนิดต่าง ๆ เช่น แผลถลอก แผลไฟไหม้ แผลจากการโดนบาด แผลจากการถูกสัตว์กัด รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เป็นต้น เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ ท้อง แขน และขาหดเกร็งตลอดเวลา ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วัคซีนบาดทะยักมีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีแนวทางการฉีดอย่างไร ?
วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักที่ใช้ในปัจจุบันมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กเล็ก วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนบาดทะยักแต่ละชนิดไว้ ดังนี้
วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ ผลิตจากเชื้อและพิษของเชื้อบาดทะยักและคอตีบที่ผ่านขั้นตอนการทำให้หมดฤทธิ์ในการก่อโรค มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงหากได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
วิธีการฉีด
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยฉีดวัคซีนนี้และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน หรือเด็กที่ฉีดวัคซีนนี้ไม่ครบ 3 ครั้ง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งเว้นระยะห่าง 0 เดือน 1 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำทุก 10 ปี
- เด็กที่ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ครบ 5 ครั้งแล้ว ควรฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ เมื่อมีอายุ 12-16 ปี จากนั้นให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำทุก 10 ปี
วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กเล็ก ผลิตจากพิษของเชื้อคอตีบและบาดทะยักที่ผ่านขั้นตอนการทำให้หมดฤทธิ์ในการก่อโรคผสมกับเชื้อไอกรนที่ผ่านการแยกบริสุทธิ์ ทำให้มีผลข้างเคียงจากการฉีดน้อย รวมทั้งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพป้องกันสูงหากได้รับวัคซีนครบตามกำหนด
วิธีการฉีด
- เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนนี้เมื่อมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1.5 ปี และ 4-6 ปี แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์จะลดลงหลังจากผ่านไปแล้ว 5-10 ปี จึงควรฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักสำหรับผู้ใหญ่เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำอีกครั้งเมื่อมีอายุประมาน 10-18 ปี
วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ เนื่องจากวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อเด็กโตและผู้ใหญ่ได้ จึงมีการดัดแปลงวัคซีนไอกรนให้บริสุทธิ์และมีสารจากเชื้อไอกรนในปริมาณที่น้อยลง ส่งผลให้วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยต่อเด็กโตและผู้ใหญ่
วิธีการฉีด
- เด็กโตที่มีอายุตั้งแต่ 10-18 ปี ควรได้รับวัคซีนนี้ 1 ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะฉีดให้เมื่อเด็กมีอายุ 11-12 ปี จากนั้นควรฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 10 ปี
วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ผลิตจากเชื้อและพิษของเชื้อที่ผ่านขั้นตอนการทำให้หมดฤทธิ์ในการก่อโรคเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงหากได้รับวัคซีนครบตามกำหนด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง
วิธีการฉีด
- เด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ทั้งหมด 5 ครั้ง คือ เมื่อมีอายุประมาณ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน และ 4-6 ปี
ใครบ้างที่ไม่ควรฉีดวัคซีนบาดทะยัก ?
ผู้ที่มีภาวะหรือปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
- มีอาการแพ้ส่วนประกอบใด ๆ ก็ตามของวัคซีนบาดทะยักอย่างรุนแรง
- เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงหลังจากฉีดวัคซีนบาดทะยัก
- เคยมีอาการโคม่าหรือชักภายใน 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนบาดทะยัก
- เคยเป็นโรคลมชัก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการปวดหรือบวมอย่างรุนแรงหลังฉีดวัคซีนบาดทะยัก
- เคยป่วยเป็นกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร หรือโรคเส้นประสาทอักเสบแบบเรื้อรัง
- มีอาการป่วยจากโรคใด ๆ ก็ตาม ซึ่งอาจต้องรอให้หายป่วยก่อนจึงจะฉีดวัคซีนบาดทะยักได้
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
การฉีดวัคซีนบาดทะยักนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูง แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังฉีดได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นเป็นเวลาเพียงไม่นานและมีอาการไม่รุนแรง โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- มีอาการปวด แดง หรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- มีไข้อ่อน ๆ และหนาวสั่น
- ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
- อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- หากเป็นเด็กอาจมีอาการงอแง
นอกจากนี้ อาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยในเด็กอาจมีอาการชัก ร้องไห้งอแงไม่หยุดเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส บางรายมีอาการแพ้อย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนภายในไม่กี่นาที เช่น คันตามผิวหนังหรือมีอาการบวมร่วมด้วย วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการแพ้รุนแรงดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์หรือโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที