วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ วัคซีนที่ควรฉีดในช่วงการระบาดโรคโควิด-19

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) เป็นหนึ่งในวัคซีนสำคัญที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นอกเหนือจากวัคซีนโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ประจำปี เพราะโรคปอดอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าที่หลายคนคาดคิด

จริง ๆ แล้ว ปอดอักเสบเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) การติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (COVID-19) ในบางกรณียังเป็นผลมาจากไข้หวัดใหญ่หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อน

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ เราควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคในอนาคต พบแพทย์จึงอยากชวนทุกคนมาเตรียมความพร้อมก่อนการฉีดวัคซีนปอดอักเสบผ่านคำถามเหล่านี้กัน 

1. วัคซีนป้องกันปอดอักเสบมีกี่ชนิด

ในปัจจุบัน วัคซีนปอดอักเสบจะป้องกันเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส แม้จะป้องกันได้ไม่ครบทุกสายพันธุ์ แต่จะครอบคลุมสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยและก่อโรครุนแรงอยู่แล้ว โดยวัคซีนปอดอักเสบจะผลิตจากเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบสำหรับผู้ใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 

  1. วัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal Conjugate Vaccine: PCV13) เป็นวัคซีนที่เกิดจากการนำแอนติเจน (Antigen) ของเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ไปจับกับโปรตีนพาหะชนิดหนึ่ง เพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้นและป้องกันโรคได้นานขึ้น ซึ่งครอบคลุมปอดอักเสบทั้งชนิดไม่ลุกลามและชนิดลุกลาม โดยแนะนำให้ใช้ในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุที่แพทย์เห็นสมควร 
  2. วัคซีนป้องกันปอดอักเสบชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal Polysaccharide Vaccine: PPSV23) วัคซีนชนิดนี้จะใช้แอนติเจนเพียงอย่างเดียวในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ประมาณ 3–5 ปี แต่ไม่อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีได้

2. ทำไมเราควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 

ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมักก่อให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจลำบาก มีไข้ หรือรู้สึกไม่สบาย ทว่าหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น ปอดบวม การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จึงจำเป็นจะต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อนิวโมคอคคัสร่วมกับโรคดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นอีก และที่สำคัญคือ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ไม่อาจป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสได้ การฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบเพิ่มเติมจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 

3. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนปอดอักเสบภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวในทุกช่วงวัย เช่น โรคหืด โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ เป็นต้น 

รวมไปถึงผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานผิดปกติ ผู้ที่น้ำไขสันหลังรั่ว ผู้ที่ใส่ชุดประสาทหูเทียม ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคมะเร็ง หรือการติดเชื้อเอชไอวี การทำเคมีบำบัด การใช้ยาบางชนิด และการปลูกถ่ายอวัยวะ 

 โดยผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงและไม่เคยฉีดวัคซีนปอดอักเสบมาก่อนควรเริ่มที่วัคซีน PCV13 แล้วเว้นระยะห่าง 1 ปี จึงฉีดวัคซีน PPSV23 สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับชนิดของวัคซีนปอดอักเสบที่ควรฉีดและระยะเวลาในการฉีดที่เหมาะสม

4. วัคซีนป้องกันปอดอักเสบฉีดร่วมกับวัคซีนอื่นได้หรือไม่

หลายคนอาจเป็นกังวลเกี่ยวกับฉีดวัคซีนปอดอักเสบหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนโรคโควิด-19 แต่จริง ๆ แล้วผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เด็กและผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าผลเสีย  

ทั้งนี้ ผู้ใหญ่อาจฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในวันเดียวกัน แต่สำหรับวัคซีนโรคโควิด-19 ควรฉีดห่างจากวัคซีนปอดอักเสบ หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ อย่างน้อย 14 วัน หากผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเสมอ

5. ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันปอดอักเสบมีอะไรบ้าง

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อร่างกาย ผู้รับการฉีดวัคซีนอาจพบเพียงอาการปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย รู้สึกเหนื่อย ปวดศีรษะ หรือปวดกล้ามเนื้อ บางรายอาจเกิดอาการแพ้วัคซีนที่รุนแรง (Anaphylaxis) แต่ก็พบได้น้อยมาก

6. เตรียมความพร้อมก่อนการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบได้อย่างไร

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจะฉีดโดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาล ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยในเบื้องต้นควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หากพบความผิดปกติหรืออาการป่วยใด ๆ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการฉีดวัคซีน  

7. วิธีอื่น ๆ ในการป้องกันปอดอักเสบมีอะไรบ้าง

นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังมีอีกหลายวิธีที่ควรทำควบคู่กัน โดยต้องอาศัยความมีวินัย ความระมัดระวัง และควรฝึกให้เป็นนิสัย จึงจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มากที่สุด เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ สวมหน้ากากอนามัยหรือปิดปากด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ขณะไอหรือจาม งดสูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งจากการออกกำลังกาย การนอนหลับ หรือการรับประทานอาหาร เป็นต้น  

วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจัดเป็นวัคซีนเสริม ไม่ใช่วัคซีนพื้นฐานฟรีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล จึงมีค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นร่วมกับแพทย์แล้วจะเลือกฉีดหรือไม่ก็ได้ แต่วัคซีนชนิดนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการเสริมสร้างเกราะป้องกันร่างกายให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือหากมีสุขภาพดีอยู่แล้ว แต่กังวลและอยากฉีดป้องกันไว้ก่อนก็ทำได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้ เนื่องจากโรคปอดอักเสบมักก่อให้เกิดอาการที่คล้ายกับโรคโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไอ หายใจลำบาก มีไข้ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบาย หรือปวดศีรษะ หากมีอาการเข้าข่าย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุด

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 28 มีนาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน

PP-PRV-THA-0006 

เอกสารอ้างอิง

  • Weiser, J.N., Ferreira, D. M., & Paton, J. C. (2018). Streptococcus Pneumoniae: Transmission, Colonization and Invasion. Nature Reviews Microbiology, 16(6), pp. 355–367.
  • Bonten, et al (2015). Polysaccharide Conjugate Vaccine against Pneumococcal Pneumonia in Adults. The New England Journal of Medicine, 372, pp. 1114–1125. 
  • American Lung Association (2020). What Is The Connection Between Influenza and Pneumonia?.
  • World Health Organization (2020). Regional Office for Europe. Guidance on Routine Immunization Services During COVID-19 Pandemic in the WHO European Region.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2022). About Pneumococcal Vaccines. 
  • Centers for Disease Control and Prevention (2022). Pneumococcal Vaccination: What Everyone Should Know.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2021). 20-valent Pneumococcal Conjugate Vaccine (PCV20) Phase 3 in Adults.
  • Centers for Disease Control and Prevention (2020). About Pneumococcal Disease. Risk Factors and Transmission.
  • Ministry of Public Health (2021). Department of Disease Control. วัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย.
  • Ministry of Public Health (2019). Department of Disease Control. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562.
  • National Health Service England (2019). Overview Pneumonia.
  • National Health Service England (2019). Pneumococcal Vaccine Overview.
  • The United States Department of Health and Human Services (2021). Pneumococcal.
  • Atipookanok, S., & Chokephaibulkit, K. Pediatric Infectious Disease Society of Thailand. คําแนะนําการให้บริการวัคซีนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-9).
  • Prommalikit, O. Pediatric Infectious Disease Society of Thailand. บทที่ 21 วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส.
  • Mahidol University (2021). Drug Information Center. รู้จักวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine).
  • Mahidol University (2021). Faculty of Medicine Siriraj Hospital. ทานอย่างไร ..... ก่อนฉีดวัคซีน.
  • Miller, K. Verywell Health (2021). CDC: You Can Get Other Vaccines at the Same Time as COVID-19 Vaccine.
  • Ratini, M. WebMD (2022). Coronavirus and Pneumonia.