มีพ่อแม่หลายคนคิดว่า วัคซีนเสริมอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับลูกน้อย เพราะแม้จะช่วยป้องกันโรค ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและความรุนแรงของอาการได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ที่จริงแล้ว วัคซีนกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญและคุ้มค่าแก่การฉีดให้ลูกไม่แพ้วัคซีนพื้นฐาน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคระบาดหรือการติดเชื้อบางชนิด วัคซีนป้องกันโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก และวัคซีนป้องกันโรคร้ายแรง
โดยทั่วไป วัคซีนเสริมเป็นวัคซีนที่ไม่จัดอยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (Expanded Program on Immunization: EPI) ซึ่งเป็นบริการฉีดวัคซีนพื้นฐานฟรีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนแก่เด็กทุกคนในช่วงอายุที่เหมาะสม ทำให้ผู้ปกครองสามารถพิจารณาถึงความจำเป็นหรือความเสี่ยงต่อโรคร่วมกับแพทย์ และเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีนเสริมให้กับเด็กหรือไม่ โดยวัคซีนในกลุ่มนี้มีหลายชนิดให้เลือกใช้ บทความนี้จึงอยากมาแนะนำวัคซีนเสริมที่จำเป็นสำหรับเด็กกัน
วัคซีนเสริมที่แนะนำสำหรับเด็ก
วัคซีนเสริมที่ผู้ปกครองควรพิจารณาให้แก่เด็กจะมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
วัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Conjugate Vaccine)
เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) อันเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่รุนแรง อาทิ โรคปอดอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผลิตมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ถูกทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ซึ่งเพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิกันร่างกายโดยไม่ก่อให้เกิดโรคตามมา
ปกติแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ใช้วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ในเด็กต่ำกว่า 2 ปี โดยฉีด 3 เข็ม เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือนตามลำดับ แล้วฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็ม เมื่ออายุ 12–15 เดือน ในกรณีที่เด็กมีอายุมากกว่า 2 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนช้ากว่ากำหนด มีปัญหาสุขภาพร่วมด้วย หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนีย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมต่อตัวเด็กมากที่สุด
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis Vaccine: JE)
ไข้สมองอักเสบเจอีเป็นการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง มีสาเหตุมาจากการถูกพาหะนำโรคอย่างยุงรำคาญกัด แม้จะไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แต่ก็มีวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ที่จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนเสริม และชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccine) ที่ผลิตด้วยเชื้อโรคมีชีวิต แต่ถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่อาจก่อโรค ซึ่งจะจัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนพื้นฐาน โดยจะมีความปลอดภัยสูงกว่าชนิดเชื้อตาย และเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า ทว่าห้ามฉีดในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้
เด็กที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตายจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เริ่มฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เข็มที่สองให้ฉีดหลังเข็มแรกประมาณ 1–4 สัปดาห์ และเข็มสุดท้ายให้ฉีดหลังเข็มแรกประมาณ 1 ปี โดยวัคซีนชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง อาทิ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อไข้สมองอักเสบเจอีสามารถทำได้หลายวิธีร่วมกัน เช่น หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือบริเวณที่มียุงชุกชุม ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทายากันยุง เป็นต้น
วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine: VAR)
พ่อแม่หลายคงรู้จักกับโรคอีสุกอีใสเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ที่ก่อให้เกิดตุ่มน้ำใส ตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือผื่นคัน ทว่าส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยวัคซีนอีสุกอีใสจะมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือ วัคซีนเดี่ยว (VZV) และวัคซีนรวม (MMRV)
การฉีดวัคซีนอีสุกอีใสเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้ เนื่องด้วยประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดความรุนแรงของโรคเป็นอย่างดี ในกรณีที่เป็นวัคซีนเดี่ยวจะให้ฉีดในเด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยมีทั้งหมด 2 เข็ม ฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12–18 เดือน และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 18 เดือน–4 ปี หรือห่างจากเข็มแรก 3 เดือนในกรณีที่มีการระบาดของโรค สำหรับเด็กอายุมากกว่า 13 ปี จะฉีดสองเข็มเช่นกัน โดยฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
วัคซีนเอชพีวี (Human Papillomavirus Vaccine: HPV)
เชื้อเอชพีวีเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่แยกย่อยออกไปได้อีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งแม้ร่างกายของเราจะกำจัดเชื้อบางชนิดได้เองตามธรรมชาติ แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 อาจนำไปสู่โรคร้ายอย่างมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงมะเร็งทวารหนัก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ และถ้าเป็นสายพันธุ์ 6 และ 11 อาจก่อให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศได้
ในปัจจุบันวัคซีนเอชพีวีมีให้เลือก 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix) ชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil) และชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil 9) โดยแพทย์จะแนะนำให้เด็กผู้หญิงและผู้ชายเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 9–26 ปี แต่เน้นฉีดในเด็กที่มีอายุ 11–12 ปี โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1–2, และ 6 ซึ่งหากไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธุ์หรือเคยติดเชื้อเอชพีวีมาก่อน ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะสูง
วัคซีนฮิบ (Haemophilus Influenzae Type B Vaccine: HIB)
โรคฮิบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี (Haemophilus influenzae type b: Hib) ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายอย่าง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ หรือฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนลุกลามได้เร็วและต้องการการรักษาที่เร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
วัคซีนโรคฮิบถือเป็นส่วนหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานตามแผนงานของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากกล่าวถึงวัคซีนเสริม ในที่นี้จะหมายถึงวัคซีนรวม 6 โรค ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี โปลิโอ และฮิบ ซึ่งจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เมื่อมีอายุ 2, 4 และ 6 เดือนตามลำดับ เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเพิ่มเมื่อมีอายุ 12–18 เดือน ยกเว้นแต่จะมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ หากเด็กไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แต่มีอายุมากกว่า 2 ปีและมีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเช่นกัน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีอาจส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มเสี่ยงอย่างมาก รวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเชื้อโรคต้นเหตุอย่างไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) จะไปรบกวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้อาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ๆ เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ด้วย
ปกติแล้ว วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีทั้งชนิดเชื้อตายและเชื้อเป็น ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เป็นประจำทุกปี โดยเน้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี และเด็กที่เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพรุนแรง อย่างโรคปอดอักเสบเรื้อรังหรือโรคหอบหืด ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ควรฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย เช่น เจ็บ แดง บวมบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ต่ำ ซึ่งมักหายไปได้เองภายใน 2–3 วัน โดยในระหว่างนี้อาจบรรเทาอาการด้วยยาพาราเซตามอล ในกรณีที่เด็กพบความผิดปกติอื่นใดหลังการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการดูแลเพิ่มเติม
สุดท้ายนี้ แม้วัคซีนเสริมที่ยกมาข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบทุกโรค ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรศึกษาข้อมูลของวัคซีนเสริมและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาหาวัคซีนที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการฉีดมากที่สุด รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลและปกป้องลูกรักให้ปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย