วัตถุเจือปนอาหารอาจเป็นภัยเงียบที่หลายคนได้รับโดยไม่รู้ตัว ภายใต้อาหารที่มีรสชาติดี มีสีสันสวยงามอาจมีวัตถุเจือปนอาหารซ่อนอยู่ แม้ว่าการได้รับประทานอาหารที่อร่อยและน่ารับประทานอาจเป็นความสุขของใครหลายคน แต่การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของวัตถุเจือปนอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยได้ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลของวัตถุเจือปนอาหาร ชนิดของวัตถุเจือปนอาหารที่อาจพบได้บ่อย รวมถึงประโยชน์และโทษของวัตถุเจือปนอาหารมาให้ได้ศึกษากัน
วัตถุเจือปนอาหาร คือ อะไร?
วัตถุเจือปนอาหารคือสารเคมีที่ช่วยเพิ่มหรือเสริมคุณสมบัติบางอย่างให้กับอาหาร ซึ่งอาจมีที่มาจากสัตว์ พืช แร่ธาตุ รวมถึงการสังเคราะห์ วัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดก็นำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มรสชาติ ยืดอายุอาหาร หรือคงความสดใหม่ของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นกันอยู่แทบในทุกวัน อย่างสีผสมอาหาร เกลือ หรือผงชูรส แม้ว่าวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยจากองค์กรมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศหรือโคเด็กซ์แล้วเท่านั้น แต่การบริโภควัตถุเจือปนอาหารนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
วัตถุเจือปนอาหารที่พบได้บ่อยกับความเสี่ยงที่ควรทราบ
อาหารแต่ละมื้ออาจมีวัตถุเจืออาหารแตกต่างกันไป ดังนี้
สีผสมอาหาร ใช้เจือในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสร้างสีสัน ทำให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น พบได้ในเนื้อสัตว์ ขนมหวาน น้ำหวาน ซึ่งในแต่ละสีก็จะมีสารเคมีที่แตกต่างกันจึงอาจส่งผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภาวะไฮเปอร์หรืออยู่ไม่นิ่งในเด็ก กระตุ้นให้อาการของโรคหอบหืด (asthma) รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยจากการทดลองในสัตว์สีผสมอาหารบางสีอาจเพิ่มความเสี่ยงของเนื้องอกบริเวณต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ตาม จากการทดลองในสัตว์ สีผสมอาหารนั้นไม่มีส่วนในการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต เป็นอีกหนึ่งเครื่องปรุงที่มักใช้ตามร้านอาหารและครัวเรือน มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มรสชาติของอาหาร ความเชื่อที่ว่าการรับประทานผงชูรสอาจทำให้ผมร่วงนั้นไม่เป็นความจริง แต่ผงชูรสอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในรูปแบบอื่น อย่างทำลายสมองส่วนหน้า ลดวิตามินในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ลดภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นให้อาการของโรคบางโรครุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ที่ไวต่อผงชูรสอาจมีอาการปวดศีรษะ เหงื่อออก รู้สึกชา เมื่อรับประทานในปริมาณมาก ผงชูรสพบได้อาหารหลายชนิด โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง
ไฮฟรักโทสคอร์นไซรัป เป็นสารให้ความหวานอย่างหนึ่งที่ผลิตมาจากข้าวโพด พบมากในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก สารชนิดนี้ให้ความหวานมากกว่าสารให้ความหวานชนิดอื่น ๆ ทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่า การบริโภคไฮฟรักโทสคอร์นไซรัปปริมาณมากเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้น้อยลง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคความดันโลหิต ผู้ใหญ่จึงไม่ควรบริโภคเกินวันละ 6 ช้อนชา และเด็กไม่ควรบริโภคเกิน 4 ช้อนชา
แอสปาร์แตม เป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำ พบได้ในน้ำอัดลมที่ให้แคลอรี่ต่ำ มีงานวิจัยที่พบว่าแอสปาร์แตมนั้นอาจช่วยในการลดน้ำหนักและรักษาระดับน้ำตาลในเลือด แต่การบริโภคแอสปาร์แตมก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางจิต อย่างอาการตื่นตระหนก ตื่นตกใจ อารมณ์แปรปรวน ภาพหลอน นอกจากนี้ การทดลองในสัตว์ยังพบว่าแอสปาร์แตมนั้นมีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย
โซเดียมเบนโซเอต (Sodium benzoate) เป็นสารกันเสียที่ใช้ยืดอายุของอาหารและเครื่องดื่ม พบมากในอาหารแปรรูป อย่างอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง โซดา น้ำอัดลม มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับโซเดียมเบนโซเอตแล้วพบว่า สารชนิดนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไฮเปอร์หรืออยู่ไม่นิ่งในเด็ก กระตุ้นอาการของโรคสมาธิสั้นในเด็กวัยรุ่น และยังมีงานวิจัยที่พบว่าการรับประทานโซเดียมเบนโซเอตร่วมกับวิตามินซีอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีโซเดียมเบนโซเอตเป็นส่วนประกอบ
โซเดียมไนไตรต์ (Sodium nitrite) เป็นสารกันเสียที่อยู่ในรูปแบบของเกลือ พบได้ในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ อย่างอาหารกระป๋อง ไส้กรอก แหนม กุนเชียง และลูกชิ้น การได้รับโซเดียมไนไตรต์ในปริมาณที่เหมาะนั้นอาจช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ได้ แต่เมื่อโซเดียมไนไตรต์และกรดอะมิโนในร่างกายได้รับความร้อนสูงอาจเปลี่ยนเป็นสารไนโตรซามีนซึ่งอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย จึงควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการแปรรูปเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารโซเดียมไนไตรต์
ไขมันทรานส์ หรือที่เรียกกันว่าไขมันเลว เนื่องจากงานวิจัยหลายงานที่พบว่าไขมันทรานส์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก การบริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดความผิดปกติ อย่างทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โดยอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ อย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด เนยเทียม เบเกอรี่ เนื้อติดมัน และไขมันจากสัตว์ โดยเปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างปลาทะเล อะโวคาโด อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันมะกอก เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรค
กัวร์กัม (Guar Gum) เป็นสารที่สร้างความข้นหนืดให้กับอาหาร พบได้ในไอศกรีม โยเกิร์ต น้ำสลัด และน้ำจิ้ม กัวร์กัมนั้นเป็นสารจากที่ได้จากถั่วกัวร์ กัวร์กัมนั้นเป็นวัตถุเจืออาหารที่มีไฟเบอร์สูง ช่วยลดอาการท้องอืดและท้องผูก ให้พลังงานต่ำ ช่วยให้อิ่มเร็ว แต่กัวร์กัมก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติ อย่างเกิดแก๊สในกระเพาะ ท้องอืด และหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดอาหารหรือลำไส้เล็ก
คาร์ราจีแนน (Carrageenan) เป็นสารช่วยสร้างความข้นหนืดช่วยให้อาหารเป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นสารกันเสียด้วย คาร์ราจีแนนนั้นผลิตมาจากสาหร่ายแดง แม้ว่าจะเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ แต่ก็มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่าคาร์ราจีแนนอาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ อย่างเกิดแผลภายในลำไส้ เกิดการอักเสบ ภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส แพ้อาหาร และเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ คาร์ราจีแนนอาจพบได้ในนมรสช็อคโกแลค นมแอลมอนด์ ไอศกรีม และนมถั่วเหลือง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัตถุเจืออาหารบางชนิดอาจมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดอันตราย และควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทาน อย่างลดการรับประทานอาหารแปรรูปหรืออาหารที่ที่อาจมีวัตถุเจือปน เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้ง รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ มีประโยชน์ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ