วิตามินคนท้อง หรือกลุ่มวิตามินที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์น่าจะเป็นหนึ่งสิ่งที่คุณแม่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากหากร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน ก็จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิตามินเป็นสารอาหารที่มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีประโยชน์และข้อควรรู้ที่แตกต่างกันไป ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินคนท้อง ทั้งวิตามินที่คุณแม่ควรรับประทานและวิตามินที่คุณแม่ควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสม มาให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ลองศึกษากัน
วิตามินคนท้อง วิตามินที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
กลุ่มวิตามินคนท้องที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ ได้แก่
1. กรดโฟลิคหรือวิตามินบี 9
โดยทั่วไป ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรได้รับกรดโฟลิคหรือวิตามินบี 9 ในปริมาณประมาณ 550 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากการได้รับวิตามินชนิดนี้ในปริมาณที่เพียงพอถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) ในทารกได้
โดยแหล่งอาหารที่มีกรดโฟลิคสูงก็เช่น บรอกโคลี ผักคะน้า ถั่วแระญี่ปุ่น ไข่ไก่ และผักใบเขียวต่าง ๆ
2. วิตามินบี 12
วิตามินบี 12 เป็นสารอาหารสำคัญต่อกระบวนเจริญเติบโตของสมองและไขสันหลังของทารก รวมถึงยังเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงและดีเอ็นเอ โดยปริมาณที่ควรได้รับต่อวันในคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 2.6 มิลลิกรัม ส่วนแหล่งอาหารก็เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อปู หอยนางรม หอยแมลงภู่ และไข่ไก่
3. วิตามินบี 1
วิตามินบี 1 เป็นวิตามินที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของสมองของทารกในครรภ์ รวมถึงเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่และทารกในครรภ์สามารถเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นพลังงานได้อีกด้วย โดยปริมาณที่ควรได้รับต่อวันสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 1.4 มิลลิกรัม ส่วนแหล่งที่พบวิตามินบี 1 ก็เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่ไก่ และข้าวโพด
4. วิตามินบี 6
วิตามินบี 6 เป็นวิตามินที่สำคัญต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยในการย่อยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตของร่างกาย เป็นส่วนสำคัญในกระบวนพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารก เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง สารสื่อประสาท และแอนติบอดี้ของคุณแม่ รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้อีกด้วย
โดยปริมาณวิตามินบี 6 ที่คุณแม่ควรได้รับต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 มิลลิกรัม ซึ่งคุณแม่หารับประทานได้ง่าย ๆ จากอาหารใกล้ตัว เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่แดงของไข่แก่ และบรอกโคลี
5. วิตามินเอ
วิตามินเอเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระบวนสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารก ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ไต ดวงตา กระดูก ระบบประสาทส่วนกลาง และระบบทางเดินหายใจ โดยปริมาณวิตามินเอที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 700 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนอาหารที่พบวิตามินเอได้มากก็เช่น ฟักทอง มะละกอ แครอท และไข่ไก่
6. วิตามินซี
ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรได้รับวิตามินซีในปริมาณประมาณ 90–95 มิลลิกรัม/วัน เพื่อช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมีความแข็งแรง โดยแหล่งของวิตามินซีส่วนใหญ่จะพบได้ในอาหารกลุ่มผักและผลไม้ เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี มะเขือเทศ ฝรั่ง ส้ม และสตรอว์เบอรรี
7. วิตามินดี
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรได้รับวิตามินดีให้เพียงพอ โดยประมาณ 600 IU หรือ 15 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากการขาดวิตามินดีในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
โดยแหล่งหลัก ๆ ของวิตามินดีก็คือ แสงแดด เนื่องจากโดยปกติแล้ว ร่างกายจะผลิตวิตามินดีออกมาได้เองเมื่อผิวหนังถูกแสงแดด อย่างไรก็ตาม อาหารบางชนิดก็สามารถพบวิตามินดีได้เช่นกัน เช่น แซลมอน ปลาซาร์ดีน ไข่ไก่ และสัตว์เนื้อแดง อย่างเนื้อหมู และเนื้อวัว
8. วิตามินอี
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ วิตามินอีจะมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยปริมาณที่เหมาะสมต่อวันจะอยู่ประมาณ 11 มิลลิกรัม ซึ่งคุณแม่สามารถรับประทานได้จากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่วลิสง บรอกโคลี และหน่อไม้ฝรั่ง
วิตามินคนท้องในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่
ในปัจจุบัน นอกจากในอาหารแล้ว วิตามินคนท้องยังสามารถหารับประทานได้ง่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ต้องการรับประทานวิตามินคนท้องในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เนื่องจากวิตามินบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากได้รับมามากเกินไป เช่น
- วิตามินเอ แม้วิตามินเอจะเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่การได้รับวิตามินเอมากเกินไปในช่วงตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Birth Defects) ได้
- วิตามินอี วิตามินอีก็เป็นวิตามินอีกชนิดที่แม้จะมีประโยชน์ต่อทั้งคุณแม่และทารก แต่หากได้รับมามากเกินไปก็อาจส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดท้อง หรือเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดได้
ทั้งนี้ นอกจากวิตามินต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสารอาหารชนิดอื่น ๆ อีกมากมายที่จำเป็นต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ธาตุเหล็ก กรดไขมันโอเมก้า 3 และแคลเซียม ดังนั้น นอกจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินจำเป็นแล้ว คุณแม่ควรใส่ใจกับการรับประทานอาหารให้หลากหลายด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน