วิธีกดจุดไล่ลมในท้องที่ได้ผลและปลอดภัย

หากมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรืออาหารไม่ย่อย วิธีกดจุดไล่ลมในท้องอาจสามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ โดยการกดจุดเป็นวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนจีน แต่ในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายรวมถึงในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้องการกดจุดไล่ลมในท้อง ควรศึกษาขั้นตอนการกดจุดที่ถูกต้องและข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ

อาการท้องอืดสามารถสังเกตง่าย ๆ คือรู้สึกไม่สบายท้อง เหมือนมีลมอยู่ในท้อง หรือต้องการเรอบ่อย ๆ ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องหรือแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย อาการท้องอืดโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือการแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮลล์หรือการรับประทานยาบางชนิดก็สามารถทำให้ท้องอืดได้เช่นกัน

วิธีกดจุดไล่ลมในท้อง

วิธีกดจุดไล่ลมในท้อง และ 5 บริเวณที่สำคัญต่อระบบย่อยอาหาร

วิธีการกดจุดไล่ลมในท้องจะเป็นการกดจุดในเส้นลมปราณที่สัมพันธ์กับการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยผู้เชี่ยวชาญจะใช้นิ้วมือประมาณ 2 นิ้วกดลงไปบริเวณเส้นลมปราณต่าง ๆ แล้วนวดคลึงวนเป็นวงกลมเบา ๆ ประมาณ 3–5 นาที เส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารมี 5 จุดสำคัญในร่างกาย ดังนี้

1. จุดจู๋ซานหลี่ (Zusanli)

 

จุดจู๋ซานหลี่หรือเรียกว่าจุด ST36 จะอยู่บริเวณต่ำกว่าลูกสะบ้าของหัวเข่าลงไปประมาณ 3 นิ้ว โดยจะอยู่ที่ด้านนอกของหน้าแข้งในแนวเดียวกับกระดูกหน้าแข้งทั้งสองข้าง จุดจู๋ซานหลี่เป็นเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร การกดจุดบริเวณนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด รวมถึงโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารอื่น ๆ ด้วย

2. จุดซานอินเจียว (Sanyinjiao)

 

จุดซานอินเจียวหรือเรียกว่าจุด SP6 จะอยู่บริเวณเหนือกระดูกข้อเท้าด้านในทั้งสองข้างขึ้นมาประมาณ 3 นิ้ว จุดซานอินเจียวเป็นเส้นลมปราณที่เชื่อมไปยังม้าม ตับ และไต แต่การกดจุดบริเวณนี้หากกดแรงเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะหดเกร็งซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทำการกดจุด

3. จุดชี่ห่าย (Qihai)

 

จุดชี่ห่ายหรือเรียกว่าจุด CV6 จะอยู่บริเวณต่ำกว่าสะดือลงไปประมาณ 1–1.5 นิ้ว เป็นเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับช่องท้องส่วนล่างและลมปราณภายในร่างกาย การกดจุดบริเวณนี้จึงอาจช่วยทำให้แก๊สในกระเพาะอาหารถูกขับออกไป และช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้

4. จุดจงหว่าน (Zhongwan)

 

จุดจงหว่านหรือเรียกว่าจุด CV12 จะอยู่เหนือสะดือขึ้นไปประมาณ 4 นิ้ว เป็นเส้นลมปราณที่เชื่อมไปยังช่องท้องส่วนบน กระเพาะปัสสาวะ และถุงน้ำดี การกดจุดบริเวณนี้มักใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แต่หากกดแรงเกินไปอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้ จึงควรกดด้วยความระมัดระวัง

5. จุดเว่ยซู (Weishu)

 

จุดเว่ยซูหรือเรียกว่าจุด BL21 จะอยู่บริเวณด้านหลังในตำแหน่งเดียวกับสะดือ แต่จะอยู่ห่างจากกระดูกสันหลังไปด้านข้างทั้ง 2 ข้างประมาณ 1–1.5 นิ้ว จุดเว่ยซูเป็นเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ การกดจุดบริเวณนี้จะช่วยขับลมในช่องท้อง และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องผูกได้ แต่ผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกระดูกสันหลังอ่อนแรงไม่ควรกดจุดบริเวณนี้

ข้อควรระวังในการกดจุดไล่ลมในท้อง 

วิธีกดจุดไล่ลมในท้องมีข้อควรระวังที่จำเป็นต้องศึกษาก่อนทำการกดจุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อสุขภาพตามมา โดยข้อควรระวังในการกดจุดไล่ลมในท้อง มีดังนี้

  • การกดจุดค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนทั่วไปและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่หากทำไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ การกดจุดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีใบประกอบวิชาชีพจึงอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน โรคข้ออักเสบ โรคมะเร็ง รวมถึงมีเส้นเลือดขอด ควรหลีกเลี่ยงการกดจุด หรืออาจปรึกษาแพทย์ก่อนทำการกดจุด
  • อาการท้องอืดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงได้ หากมีอาการท้องอืดติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ หรืออาการท้องอืดที่รักษาแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

เคล็ดลับในการป้องกันอาการท้องอืด

นอกเหนือจากการรู้วิธีกดจุดไล่ลมในท้องแล้ว ยังมีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำตามได้เพื่อช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องอืด ได้แก่

  • การรับประทานอาหารให้ช้าลง รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องอืดได้ 
  • การรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ สามารถช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดอาการท้องอืดได้
  • การรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกและโพรไบโอติก จะช่วยเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ จึงอาจช่วยลดอาการท้องอืดได้
  • การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้
  • การหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องอืดได้ รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้แลคโตสควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัว หรือเลือกดื่มนมสูตรที่ไม่มีแลคโตสแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องอืดตามมา

เมื่อได้รู้วิธีกดจุดไล่ลมในท้องแล้ว คุณอาจนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับอาการท้องอืดได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการกดจุดในการรักษาอาการท้องอืดยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการกดจุดอย่างถี่ถ้วนก่อน รวมถึงอาจรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หลักที่ได้รับการยอมรับทั่วไป เช่น การรับประทานยาแก้ท้องอืด ก่อนรักษาด้วยการกดจุด