การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) เป็นมาตรการที่ภาครัฐวางแผนให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการพักรักษาตัวที่บ้าน โดยให้แยกพื้นที่พักอาศัยของผู้ป่วยและคนอื่นในบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยรักษาตัว สังเกตอาการ หรือรอคิวเพื่อเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยตามโรงพยาบาลที่หนาแน่น การตรวจและรักษาโรคจากแพทย์โดยตรงจึงทำได้ยาก
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้แบ่งผู้ป่วยโควิด-19 ตามระดับความรุนแรงออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา หายใจลำบากและตรวจพบปอดอักเสบ ผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยงหรือมีโรครุนแรงร่วม และผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการแยกกักตัวที่บ้าน
หากคุณเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว บทความนี้ได้นำเกณฑ์ของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและวิธีดูแลตัวเองระหว่างกักตัวมาให้อ่านเพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
เกณฑ์การกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว
ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่
- อายุน้อยกว่า 60 ปี
- ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ เป็นไข้ (37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป) ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง ผื่น และถ่ายเหลว
- ผู้ป่วยไม่มีอาการที่สื่อถึงความผิดปกติรุนแรง เช่น ไม่มีอาการหายใจเร็ว ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย ไม่มีอาการหายใจลำบาก และไม่ตรวจพบภาวะปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นต้น
- พักอาศัยอยู่คนเดียวหรือที่พักอาศัยเอื้อต่อการกักตัว
- ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรงหรือโรคกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 เช่น โรคอ้วน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง โรคทางหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่น ๆ เป็นต้น
ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด-19 แพทย์อาจแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านเพื่อรักษาตัว ซึ่งปัจจุบันในบางชุมชนได้จัดพื้นที่เพื่อกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 โดยใช้พื้นที่ในชุมชนเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ที่พักอาศัยไม่เอื้ออำนวยหรืออยู่ร่วมกันหลายคน
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ หากพบอาการรุนแรงควรติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาล องค์กรการกุศล และโครงการช่วยเหลือที่จัดขึ้นโดยประชาชน เป็นต้น
วิธีกักตัวสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มสีเขียว
วิธีต่อไปนี้เป็นวิธีเบื้องต้นในการกักตัวที่ทุกคนสามารถศึกษาเพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อก็ตาม
1. เตรียมสถานที่ให้พร้อม
หากต้องกักตัวอยู่ภายในบ้านหรือสถานที่ที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ด้วย ควรเตรียมสถานที่ให้พร้อม โดยเริ่มจากการแยกห้องสำหรับคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และพักอาศัยอยู่ภายในห้องส่วนตัวเท่านั้นและไม่ไปที่จุดอื่นของบ้าน
หากห้องไม่เพียงพอ ควรจัดบริเวณใดบริเวณหนึ่งของบ้านให้เป็นพื้นที่กักตัว โดยผู้ที่ติดเชื้อไม่ควรออกจากพื้นที่นั้น และคนอื่นก็ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ภายในพื้นที่กักตัว ควรเปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเพื่อลดความเสี่ยงของการฟุ้งกระจายของละอองสารคัดหลั่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ
ในส่วนของห้องน้ำ หากไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ผู้ที่ติดเชื้อควรเข้าใช้เป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกด ทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ รวมทั้งทำความสะอาดห้องน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ปุ่มกดชักโครก และหัวฉีดสายชำระ
2. เตรียมของใช้ให้พร้อม
นอกจากสถานที่กักตัวแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่กักตัวที่บ้านควรเตรียมของใช้ที่จำเป็นไว้สำหรับตัวเอง โดยตัวอย่างของเบื้องต้นที่ควรเตรียมไว้ เช่น
- ของใช้ส่วนตัว อย่างจาน ชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- อุปกรณ์และสิ่งของป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ อย่างหน้ากากอนามัย เฟสชิลด์ เจลแอลกอฮอล์ ถุงขยะสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ และอุปกรณ์ทำความสะอาดต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำยาฟอกขาวที่สามารถใช้ผสมกับน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- ยารักษาโรค อย่างยาลดไข้ ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ ยารักษาโรคที่แพทย์สั่งจ่าย และอาหารเสริม
- อาหารและเครื่องดื่ม
- อุปกรณ์หรือสื่อที่ให้ความบันเทิง หนังสือ หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่ช่วยผ่อนคลาย เพราะการกักตัวอาจทำให้รู้สึกเครียดหรืออุดอู้ได้
นอกจากสิ่งของแล้ว ผู้ป่วยควรเตรียมเบอร์โทรศัพท์และช่องทางการติดต่ออื่น ๆ สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน อย่างอาการรุนแรงฉับพลันหรือต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ
3. ใช้ชีวิตแยกกับคนอื่น ๆ
คนที่กักตัวภายในบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวคนอื่นอาศัยอยู่ ควรแยกการใช้ชีวิตออกมาให้เด็ดขาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างเลี่ยงการพูดคุย การกินอาหารร่วมกัน การอยู่ใกล้ชิด รวมไปถึงการซักเสื้อผ้าก็ควรแยกกันด้วยเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด
4. สวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ
แม้จะเป็นการกักตัวก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่งฟุ้งกระจายไปติดกับสิ่งของหรือโดนคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีอาการไอและช่วงที่ไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะหากคนอื่นมาสัมผัสกับสิ่งของ พูดคุย หรืออยู่ในห้องเดียวกันอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ควรหมั่นทำความสะอาดของใช้ภายในพื้นที่ส่วนตัวเป็นประจำ
5. จัดการขยะอย่างเหมาะสม
ขยะของผู้ป่วยโรคติดเชื้อ อย่างโรคโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับการแยกขยะไว้อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันผู้อื่นมาสัมผัส เพราะหากสัมผัสโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอาจส่งผลให้ติดเชื้อได้ ผู้ป่วยจึงควรแยกขยะของตัวเอง โดยเฉพาะกระดาษทิชชู่ที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูก และหน้ากากอนามัย รวมทั้งควรเขียนหรือทำสัญลักษณ์บนถุงขยะว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพื่อให้พนักงานเก็บขยะจัดการกับขยะได้อย่างเหมาะสม
6. ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคและการเจ็บป่วยได้ดีขึ้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในทุกด้านด้วยวิธีอื่น เช่น
- กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยเน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชขัดสีน้อยที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เนื้อปลา ไข่ นมหรือโปรตีนประเภทอื่น รวมทั้งลดการได้รับน้ำตาล เกลือ อาหารไขมันสูง
- พักผ่อนให้เหมาะสมตามช่วงวัย โดยวัยผู้ใหญ่ควรพักผ่อน 6–8 ชั่วโมง/่วัน วัยรุ่น 8–10 ชั่วโมง/่วัน ส่วนเด็กควรนอนหลับอย่างน้อย 10 ชั่วโมง/่วัน การนอนหลับอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมหรืออย่างน้อย 2 ลิตร/วันหรือ 8 แก้ว สำหรับวัยผู้ใหญ่ โดยค่อย ๆ จิบน้ำตลอดทั้งวัน ซึ่งของเหลวจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ อีกทั้งผู้ป่วยโรคติดเชื้ออาจเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
- หากไม่มีอาการท้องเสียอาจเลือกดื่มเครื่องดื่มทางเลือกที่มีอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบ อย่าง ION Drink ที่มี เพราะอิเล็กโทรไลต์จะเข้าไปชดเชยและรักษาแร่ธาตุในร่างกายให้สมดุล รวมทั้งช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียและไม่มีแรงของผู้ป่วยได้ ส่วนรายที่ท้องเสียร่วมด้วยควรดื่มเกลือแร่ ORS สำหรับคนท้องเสียเท่านั้น
7. สังเกตและบันทึกอาการในแต่ละวัน
ผู้ติดเชื้อควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองในแต่ละวัน และบันทึกไว้ โดยอาจเริ่มจากการวัดไข้ วัดออกซิเจน (หากมีเครื่องวัดออกซิเจน) สังเกตผื่นตามร่างกาย การเข้าห้องน้ำ อาการถ่ายเหลว และอาการอื่น ซึ่งการสังเกตตัวเองและการจดบันทึกจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อทราบได้ว่าอาการกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน หากอาการมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจะได้ติดต่อหาช่องทางการรักษาไว้ล่วงหน้าได้
8. ไม่ประมาท
การจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่สามารถกักตัวในที่พักอาศัยไม่ได้หมายความว่าอาการของโรคจะไม่รุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยควรมีความรับผิดชอบและนึกถึงผลกระทบต่อคนในบ้านและคนในชุมชนด้วยการกักตัวอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะครอบครัวและชุมชนที่มีผู้สูงอายุและมีคนที่เป็นโรคประจำตัว
สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและกำลังกักตัว ควรดูแลตัวเองเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันควรให้กำลังใจผู้ที่กักตัวด้วยวิธีที่ปลอดภัย และหากเป็นไปได้ ควรหาช่องทางเพื่อเข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ และป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อด้วย
สุดท้ายนี้ ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่นอย่างเหมาะสม อย่างการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด ระหว่างกักตัวหากอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ควรติดต่อสายด่วนของหน่วยงาน 8 เลขหมาย ได้แก่ 1330, 1323, 1422, 1442, 1646, 1668, 1669 และ 1506 หรือติดต่อหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาคประชาชนเพื่อหาช่องทางการรักษาให้เร็วที่สุด