หลายคนอาจไม่เคยคำนึงถึงสุขภาพไตของตนเองมาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าการรักษาสุขภาพไตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไตที่แข็งแรงจะช่วยกรองเลือด ขับของเสียออกจากร่างกาย และทำหน้าที่อื่น ๆ ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้องกับไต
ไตของคนเรามีอยู่ 2 ข้าง มีขนาดเท่ากำปั้น โดยจะอยู่ใต้สุดของกระดูกซี่โครง บริเวณกระดูกสันหลัง มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ช่วยกำจัดของเหลวส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย ขับกรดเกินที่ร่างกายผลิตออก ปรับสมดุลของเกลือ ของเหลวและแร่ธาตุในเลือดในอยู่ในระดับปกติ ด้วยเหตุนี้ การรักษาสุขภาพไตไม่ให้เสื่อมก่อนเวลาอันควรจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม
ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต ความสำคัญที่ต้องใส่ใจ
โรคไตแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทแรกคือโรคไตวายเฉียบพลัน ส่งผลให้ไตของผู้ป่วยหยุดทำงานกะทันหันหรือภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน มักเกิดกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหรือภาวะที่ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ไตช้า ผู้ที่ไตได้รับความเสียหายโดยตรง หรือผู้ที่ต่อสายระบายปัสสาวะจากไตแล้วเกิดการอุดตัน
ส่วนอีกประเภทคือโรคไตเรื้อรัง ส่งผลให้ไตของผู้ป่วยค่อย ๆ เสื่อมประสิทธิภาพลง ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 3 เดือน โดยมักเป็นผลมาจากการป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูง
เคล็ด (ไม่) ลับดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรง
การดูแลไตอย่างถูกวิธีเพื่อให้ผลิตฮอร์โมนที่ร่างกายต้องการและขับของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
หมั่นสังเกตระดับความดันโลหิต
ระดับความดันโลหิตอาจส่งผลต่อการทำงานของไต โดยส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น จึงควรตรวจเช็กระดับความดันโลหิตของตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
หากพบว่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและรูปแบบการรับประทานอาหาร และรับประทานยาควบคุมระดับความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ไตจะได้รับความเสียหายหรือเกิดโรคไต
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากไตอาจทำงานหนักมากขึ้นในการขับน้ำตาลกลูโคสออกจากเลือด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนักติดต่อกันนานเกินไป และช่วยชะลอความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของไตในอนาคต
รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อไตได้ การควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ
หากสงสัยว่าตนเองมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เบื้องต้นสามารถวัดค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI (Body Mass Index) โดยนำน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลัง 2 หากค่า BMI อยู่ที่ 18.5–22.90 แสดงว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือจะใช้เว็บไซต์ออนไลน์ช่วยในการคำนวณหาค่า BMI ก็ได้เช่นกัน
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
เลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียม ไขมันและน้ำตาลต่ำ เพิ่มการรับประทานธัญพืช ผักผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่มีรสเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไตได้รับความเสียหาย
ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
การดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการจะช่วยให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยขับโซเดียมและสารพิษอื่น ๆ จากไตออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ ในขณะเดียวกันหากเราดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียได้ดีเท่าที่ควร และอาจทำให้เกิดนิ่วหรือการติดเชื้อตามมา
เพื่อช่วยให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5–2 ลิตรต่อวัน โดยปริมาณการดื่มน้ำควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ในแต่ละคนร่วมด้วย ทั้งเพศและอายุ สุขภาพร่างกายโดยรวม และการทำกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อในแต่ละวัน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้น้ำหนักลดลง เป็นผลดีต่อผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เสริมการทำงานของหัวใจและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง โดยอาจเลือกทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยานหรือเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายควรเริ่มต้นอย่างช้า ๆ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือออกกำลังกายที่หนักมากเกินไปในช่วงแรก เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าได้ผลดี และหากมีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตราย
รับประทานยาและอาหารเสริมอย่างระมัดระวัง
การรับประทานยาบางชนิดที่หาซื้อได้ทั่วไปเป็นประจำ อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) รวมไปถึงวิตามิน อาหารเสริมหรือสมุนไพรสกัดบางชนิดมากเกินไป อาจทำให้ไตต้องทำงานหนักจนเกิดความเสียหายได้
ก่อนการรับประทานยา วิตามิน อาหารเสริมหรือสมุนไพรสกัดใด ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ควรรับประทานตามฉลากยาหรือตามปริมาณที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ตรวจการทำงานของไต
การเข้ารับการตรวจไตอย่างสม่ำเสมออาจช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติของไตได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เช่น มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ มีอายุมากกว่า 60 ปี ป่วยด้วยโรคอ้วน ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น
จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปและควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น เส้นเลือดได้รับความเสียหายและส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังไต ซึ่งหากไตได้รับเลือดไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
สุขภาพไตกับอาการที่ควรพบแพทย์
หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีระดับความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม มีอาการบวมหรือบวมน้ำ (Edema) บริเวณเปลือกตา ใบหน้า หลังส่วนล่างและขา เกิดภาวะสมองล้า มีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของไต หรือป่วยด้วยโรคที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยแพทย์อาจตรวจเช็กระดับความดันโลหิตและทดสอบการทำงานของไตด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ
ไม่เพียงแค่ดูแลสุขภาพไตเท่านั้น การดูแลและเสริมความแข็งแรงให้แก่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม ล้างมือให้สะอาด เข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ หรือวิธีอื่น ๆ ที่เสริมสุขอนามัยที่ดีของร่างกายโดยรวม เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพดีได้ในระยะยาว