ชีพจร ช่วยบอกอัตราการเต้นของหัวใจ หากระดับชีพจรเต้นอ่อนหรือแรงเกินไป รวมถึงเต้นผิดปกติ อาจแสดงถึงความผิดปกติของระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยร้ายแรงได้ ดังนั้น การสังเกตระดับชีพจรอาจช่วยให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพ และสามารถรักษาป้องกันได้ทันการณ์
วิธีจับชีพจร
โดยทั่วไป สามารถตรวจชีพจรได้ด้วยตนเองโดยการจับตามบริเวณต่าง ๆ ที่มีเส้นเลือดแดงอยู่ใกล้กับผิวหนัง เช่น ข้อมือและลำคอ ซึ่งมีวิธีการตรวจจับชีพจร ดังนี้
ข้อมือ
ยื่นมือข้างหนึ่งไปข้างหน้า งอศอกเล็กน้อย และหงายฝ่ามือขึ้น จากนั้นวางนิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างหนึ่งลงเพื่อจับชีพจรที่ข้อมือบริเวณโคนนิ้วโป้ง กดนิ้วชี้และนิ้วกลางลงบนผิวหนังเล็กน้อยจนกว่าจะรู้สึกถึงการเต้นของชีพจร หรือขยับตำแหน่งนิ้วทั้ง 2 เล็กน้อยจนกว่าจะจับชีพจรได้
ลำคอ
วางนิ้วชี้และนิ้วกลางลงบนลำคอบริเวณใต้กรามใกล้กับหลอดลม ซึ่งเป็นการจับชีพจรบริเวณเส้นเลือดแดงแคโรติดที่ไปเลี้ยงสมอง แต่จะสามารถวัดชีพจรได้ยากกว่าที่ข้อมือ โดยต้องไม่จับชีพจรที่คอพร้อมกันทั้งสองด้าน เพราะอาจทำให้หมดสติหรือเกิดอันตรายได้ และเมื่อรู้สึกถึงการเต้นของชีพจรจึงเริ่มนับอัตราการเต้นของชีพจรใน 1 นาที
วัดชีพจร นับอย่างไร ?
เมื่อจับชีพจรได้แล้ว ให้เริ่มนับอัตราการเต้นของชีพจรใน 1 นาที โดยอาจจับเวลา 1 นาทีแล้วนับจำนวนครั้งที่ชีพจรเต้น หรือจับเวลา 30 วินาทีแล้วนับจำนวนครั้งที่ชีพจรเต้นนำไปคูณด้วย 2 ส่วนการตรวจความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ ควรจับชีพจรแล้วเฝ้าสังเกตจังหวะชีพจรภายใน 20-30 วินาที ว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เช่น ชีพจรเต้นอ่อน เต้นแรง หรือเต้นขาดช่วงไป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยมากมายที่อาจส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ดังนั้น ก่อนจับชีพจรควรพักกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักได้
ชีพจรที่ปกติ
โดยปกติ ผู้ใหญ่จะมีชีพจรเต้น 60-100 ครั้ง/นาที แต่ผู้ที่ีสุขภาพแข็งแรงหรือนักกีฬามักมีชีพจรต่ำ โดยอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักอยู่ที่เพียง 40-60 ครั้ง/นาที
ชีพจรที่ผิดปกติ
ในชีวิตประจำวัน มีปัจจัยมากมายที่อาจส่งผลต่อชีพจร เช่น
- การทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ความแข็งแรงของร่างกาย
- การอยู่ในท่วงท่าต่าง ๆ เช่น นอน หรือยืน เป็นต้น
- ขนาดร่างกาย
- อารมณ์
- อุณหภูมิอากาศในขณะนั้น
- การใช้ยารักษาบางชนิด
ดังนั้น แม้ในบางครั้งชีพจรอาจเต้นผิดปกติหรือขาดหายไปบ้างก็อาจเป็นเรื่องปกติ แต่หากชีพจรขาด เต้นแรง หรือเต้นอ่อนผิดปกติเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง อาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ จึงควรเฝ้าสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น และไปปรึกษาแพทย์หากพบปัญหาดังต่อไปนี้
- ชีพจรเต้นสูงกว่า 100 ครั้ง/นาที หรือต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาทีอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เวียนหัว หายใจไม่อิ่ม หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เป็นต้น
- ชีพจรเต้นสูงกว่า 120 ครั้ง/นาที หรือต่ำกว่า 40 ครั้ง/นาทีอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นชีพจรปกติที่เคยเป็นมา
- มีข้อสงสัยหรือกังวลเกี่ยวกับอัตราการเต้นของชีพจรตนเอง
ปัญหาสุขภาพจากชีพจรเต้นผิดปกติ
- ภาวะหัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติเกิน 100 ครั้ง/นาที โดยอาจทำให้มีอาการใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย อ่อนล้า เวียนศีรษะ รู้สึกหวิว หรือเป็นลมหมดสติได้ หากมีอาการร้ายแรงอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
- ภาวะหัวใจเต้นช้า ชีพจรเต้นช้ากว่าปกติ โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะหากหัวใจเต้นช้าจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดและนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ตามร่างกายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย เหนื่อยเร็วเมื่อออกกำลังกาย วิงเวียนศีรษะ สับสนมึนงง ไม่มีสมาธิ หายใจไม่สุด ใจสั่น เป็นลม วูบ หากมีอาการร้ายแรงอาจทำให้ความดันโลหิตผิดปกติ เป็นลมบ่อย หัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นได้
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีชีพจรเต้นในลักษณะผิดปกติ โดยอาจเกิดขึ้นร่วมกับอัตราการเต้นของชีพจรที่สูงกว่าปกติ ต่ำกว่าปกติ หรือแม้แต่อัตราปกติก็ได้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น ขาดสมดุลของแร่ธาตุในเลือด กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นการบาดเจ็บจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของหัวใจที่เกิดความเสียหาย ซึ่งมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (Ventricular Fibrillation) เป็นต้น