วิธีทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกต้องและปลอดภัย

ขยะติดเชื้อนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน เนื่องจากสถานการณ์บังคับอย่างโรคระบาด และผู้ป่วยบางส่วนต้องแยกกักตัวที่พักของตัวเอง (Home Isolation) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทว่าหากขาดความรู้ความเข้าใจในการทิ้งหรือแยกขยะติดเชื้อให้ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องได้ 

คำนิยามของขยะติดเชื้อโดยทั่วไปหมายถึง ขยะหรือของเสียที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ อย่างน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข็มฉีดยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ถุงมือ กระดาษทิชชู่ เสื้อผ้า ภาชนะใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง หลอดดูด แปรงสีฟัน ที่โกนหนวด และข้าวของอื่น ๆ 

วิธีทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกต้องและปลอดภัย

ขยะติดเชื้อเหล่านี้อาจปนเปื้อนไปด้วยเชื้อก่อโรคต่าง ๆ อาทิ โรคโควิด-19 (COVID-19) ไวรัสตับอักเสบ การติดเชื้อ HIV หรือโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ หากมีการแยกขยะอย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นหรือคงอยู่ในสิ่งแวดล้อม และเมื่อมีใครไปสัมผัสโดนก็อาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการป่วยตามมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรเรียนรู้วิธีแยกขยะติดเชื้อให้ถูกต้อง 

ขั้นตอนการแยกขยะติดเชื้อที่บ้านอย่างถูกวิธี

การแยกขยะติดเชื้อในที่พักอาศัยอาจมีความแตกต่างกับการจัดการขยะติดเชื้อในสถานพยาบาลเล็กน้อย เนื่องจากสถานพยาบาลต่าง ๆ จะมีขั้นตอนการเก็บ คัดแยก รวบรวม และขนย้ายขยะที่รัดกุมและเป็นระบบ เพื่อรอการนำส่งไปยังในสถานที่กำจัดขยะต่างหาก และสถานพยาบาลบางแห่งอาจติดตั้งเตาเผาขยะไว้ในพื้นที่ จึงมีขั้นตอนกำจัดขยะด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่กักตัวในบ้านอาจกำจัดขยะติดเชื้อหรือเผาขยะเหล่านั้นได้ไม่ปลอดภัย จึงควรเก็บและแยกขยะตามขั้นตอนต่อไปนี้    

1. คัดแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป โดยอาจใช้ถังขยะ 2 ใบ และกำกับให้ชัดเจนว่าใบไหนเป็นขยะประเภทใด เพื่อป้องกันความสับสน และระหว่างการแยกขยะควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัยซ้อน 2 ชั้น ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือชำระล้างร่างกายหลังการแยกขยะเสร็จสิ้น 

2. เลือกใช้ถุงขยะชนิดหนาสีแดง 2 ใบซ้อนกัน หากไม่มีสามารถใช้ถุงพลาสติกแทนได้โดยให้ทำสัญลักษณ์หรือระบุบนถุงขยะอย่างชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ 

3. มัดปากถุงขยะชั้นในด้วยเชือกให้แน่น และฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ อาทิ แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% สารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium Hypochlorite) ความเข้มข้น 0.5% หรือน้ำยาฟอกขาวเจือจางในน้ำตามอัตราส่วน 1 ต่อ 10 

4. ซ้อนถุงขยะชั้นที่ 2 แล้วมัดปากถุงให้แน่นหนา ทำความสะอาดปากถุงซ้ำอีกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และค่อยนำขยะไปทิ้งในจุดพักขยะติดเชื้อที่หน่วยงานในท้องที่จัดไว้ให้ เพื่อนำส่งขยะไปกำจัดอย่างเหมาะสม โดยควรเลือกทิ้งขยะในช่วงเวลาที่ไม่มีคนหรือมีคนอยู่น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อให้ได้มากที่สุด  

การกำจัดขยะติดเชื้อไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทุก ๆ ขั้นตอนควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะหากเราไม่รอบคอบอาจเป็นการส่งต่อเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นในสังคมหรือเกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างดินหรือน้ำ จนอาจส่งผลให้ตัวเรา ครอบครัว หรือคนรอบข้างเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและแพร่เชื้อต่อไปโดยไม่รู้จบ