ในปัจจุบันนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน การรู้วิธีรับมืออย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก
ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matter 2.5) เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร จัดเป็นมลพิษทางอากาศที่พบมากในปัจจุบัน โดยฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า การเผาขยะในที่โล่ง การทำโรงงานอุสาหกรรมอย่างโรงงานโม่หินและโรงงานปูน การก่อสร้าง การจราจร รวมถึงฝุ่นหรือหมอกควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจอย่างโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีสุขภาพดี ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาจสะสมจนนำไปสู่การเกิดโรคที่ร้ายแรงหรือเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย
ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบต่อสุขภาพ
เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน และอาจมีสารพิษปะปนมาพร้อมกับฝุ่น จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายประการ
การสูดดมฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น
- อาการไอ
- จาม
- น้ำมูกไหล
- ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้หรือโรคหืด (Asthma) ในบางคน
ส่วนในระยะยาว การสูดดมฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น
- ปอดทำงานผิดปกติ
- ผู้ที่มีโรคทางระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอาการแย่ลง
- สตรีมีครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด
- เด็กทารกมีพัฒนาการที่ผิดปกติ
วิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงหรือหายไปอย่างถาวร และฝุ่น PM 2.5 ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างมากมาย ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตัวเองเท่าที่ทำได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกอาคาร หรือเมื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคาร เช่น ที่พักอาศัย ออฟฟิศ โดยวิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5 อย่างเหมาะสม มีดังนี้
1. เมื่ออยู่ภายนอกอาคารหรือที่เปิดโล่ง ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานและระบุชัดเจนว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากอนามัย N95 หรือ KF94 เพราะหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปหรือประเภทกันซึม (Surgical Mask) อาจไม่สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากได้
2. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดหรือมีการจราจรคับคั่ง และหากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกบ้านและลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้น้อยลง
3. หากต้องการออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้หายใจแรงหรือเร็วมาก เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน และการเล่นฟุตบอล เพราะอาจทำให้ต้องหายใจเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น และไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย N95 ขณะออกกำลังกายเพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน
4. หลีกเลี่ยงการเผาใบไม้ ขยะ หรือกระดาษเงินกระดาษทองในพื้นที่โล่งแจ้งแม้จะเป็นขยะหรือกิ่งไม้กองเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะการเผาสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศมากขึ้น
5. หากที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรปิดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน
6. ติดตามรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือทุกวัน เพื่อช่วยในการวางแผนการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5
7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการประกอบอาหารที่ต้องใช้ฟืนหรือถ่าน เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ
8. หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านให้สะอาดและปราศจากฝุ่นอยู่เสมอ รวมถึงควรใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air) เพราะสามารถดักจับฝุ่น ควัน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศได้ดีกว่าแผ่นกรองทั่วไป
9. ใช้อุปกรณ์หรือตัวช่วยในการลดปริมาณฝุ่นภายในบ้าน เช่น เครื่องฟอกอากาศ หรือต้นไม้ฟอกอากาศขนาดเล็ก
10. หากออกไปข้างนอกบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและนำเสื้อผ้าไปซักทันที รวมถึงควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นหรือมลภาวะเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่ง
แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะเป็นภัยร้ายขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้อย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม หากเราทราบเกี่ยวกับความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 และปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ได้
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบาก อาจเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม