ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสภายในเวลา 10–15 นาทีเมื่ออยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดติดต่อกัน ซึ่งหากมีอาการของภาวะฮีทสโตรกเกิดขึ้น ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในได้ และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โดยทั่วไป ร่างกายจะเย็นลงได้เองเมื่อมีการขับเหงื่อออก แต่อุณหภูมิในร่างกายของผู้ป่วยที่มีภาวะฮีทสโตรกจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้สมองหรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้รับความเสียหายได้ เราทุกคนจึงควรทราบถึงสัญญาณและวิธีการป้องกันภาวะฮีทสโตรกที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน
สัญญาณของภาวะฮีทสโตรกที่ควรรู้
ผู้ที่มีภาวะฮีทสโตรกมักจะปรากฎอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ผิวหนังร้อน มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสแต่ไม่มีเหงื่อออก
- ผิวแห้งและเปลี่ยนเป็นสีแดง
- ลิ้นมีลักษณะบวมและแห้ง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเซ
- มึนงง การรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง
- พูดไม่ชัด มีอาการลิ้นแข็ง
- วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ มีอาการชัก หรือหมดสติ
ทั้งนี้ หากพบผู้ที่มีอาการคล้ายกับภาวะฮีทสโตรก ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นและมีอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเย็นลงด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นบริเวณศีรษะ ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ หรือแช่เสื้อผ้าลงในน้ำเย็น และควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
วิธีป้องกันอาการฮีทสโตรก
การป้องกันภาวะฮีทสโตรกสามารทำได้หลายวิธี ได้แก่
1. ดื่มน้ำในปริมาณมาก
การดื่มน้ำในปริมาณมากตามปริมาณที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งวันหรือการดื่มน้ำอย่างน้อย 1–2 แก้วก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนจัด จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำและช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ ทั้งนี้ ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัดเพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดบีบท้อง และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ด้วย
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรเลือกทำในช่วงที่อากาศเย็นลงแล้ว หรือหลบเข้ามาพักในที่ร่มและดื่มน้ำเป็นระยะ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้โดยเด็ดขาด เพราะอุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
และหากจำเป็นต้องออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรพักดื่มน้ำทุก ๆ 20 นาทีแม้ไม่หิวน้ำ รวมถึงควรชั่งน้ำหนักตัวก่อนและหลังการออกกำลังกายเพื่อเปรียบเทียบปริมาณของเหลวที่สูญเสียไป และเพื่อให้ทราบปริมาณของเหลวที่ต้องดื่มเพื่อทดแทนด้วย
3. สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม
หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อากาศร้อนจัด หรือต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อผ้าบางเบา และระบายอากาศและความร้อนได้ดีอย่างผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะฮีทสโตรก นอกจากนี้ ควรสวมหมวกและแว่นกันแดด รวมถึงควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 35 เป็นอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมงเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งด้วย
4. ปรับการรับประทานอาหารและยา
ในหน้าร้อน การปรับปริมาณการรับประทานอาหารเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ โดยควรปรับปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง แต่แบ่งมื้ออาหารออกเป็นหลาย ๆ มื้อแทน นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานยา เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำหรือไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ
5. ระมัดระวังการเกิดภาวะขาดน้ำ
หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่แดดร้อนจัดหรือต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ควรสังเกตร่างกายของตัวเองว่าเกิดภาวะขาดน้ำหรือไม่ โดยตรวจดูจากสีของปัสสาวะ หากสังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีสีเข้ม ให้จิบน้ำทีละน้อย ๆ แต่จิบน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวันจนกว่าปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีอ่อนหรือสีใส
นอกจากนี้ ควรทำให้ร่างกายเย็นอยู่เสมอเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะฮีทสโตรก โดยการอาบน้ำ การเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือการแช่เท้าในน้ำเย็น รวมถึงภายในห้องพักหรือที่อยู่อาศัยก็ควรปิดม่านในช่วงกลางวันที่มีแดดแรงจัด และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยลดความร้อนภายในอาคารด้วย