โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever) หรือไข้เดงกี่เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเชื้อไวรัสเดงกี่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านการถูกยุงลายกัด ซึ่งยุงลายแพร่พันธุ์ได้ดีในสภาพอากาศที่ชื้น ประเทศไทยจึงมีข่าวการระบาดของโรคไข้เลือดออกทุกปี โดยเฉพาะในหน้าฝน
โรคไข้เลือดออกอาจทำให้เป็นไข้ ร่วมกับมีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดตามร่างกายและข้อต่อ เกิดผื่น คลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกตามร่างกาย อย่างเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน และเกิดรอยฟกช้ำ ซึ่งบางอาการอาจทำให้คนสับสนหรือเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหวัดทั่วไปจนละเลยการตรวจรักษาได้
แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการหรือพบอาการที่ไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงต่ออาการและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น การป้องกันโรคไข้เลือดออกจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคนี้
6 วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
การป้องกันไข้เลือดออกทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. กำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์
การลดจำนวนยุงลายภายในบริเวณบ้านทำได้หลายวิธี โดยแบ่งออกเป็นการกำจัดตัวยุงลายและการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
การกำจัดตัวยุงลายทำได้โดยการใช้สเปรย์หรือสารเคมีกำจัดแมลง การเลี้ยงปลาขนาดเล็กในบ่อหรืออ่างน้ำเพื่อกำจัดลูกน้ำหรือตัวอ่อนของยุงลาย การใช้ทรายอะเบท ผงซักฟอก เกลือแกง หรือน้ำส้มสายชูผสมในแจกันใส่น้ำ ชามสำหรับรองขาตู้กับข้าว และจานรองต้นไม้ก็สามารถช่วยฆ่าและลดจำนวนลูกน้ำได้
การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายทำได้ด้วยการกำจัดแหล่งน้ำขัง ทั้งภายในและนอกตัวบ้าน อย่างแอ่งน้ำและขยะที่มีน้ำขัง เทน้ำและคว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้งานเพื่อป้องกันน้ำขัง ปิดฝาภาชนะรองน้ำเพราะยุงลายแพร่พันธุ์ด้วยการวางไข่ในน้ำ หากมีแอ่งน้ำหรือแหล่งน้ำขังอยู่เยอะก็อาจทำให้ยุงลายวางไข่และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้เลือดออกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ การกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกอาจป้องกันการถูกยุงกัดและโรคไข้เลือดออกได้มากขึ้น
2. กางมุ้งทุกครั้งก่อนนอน
มุ้งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะด้วยความถี่ของตาข่ายจะช่วยป้องกันการถูกยุงกัด โดยธรรมชาติของยุงลายมักออกหากินในเวลากลางวัน หากบ้านไหนมีทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ในบ้านตลอดทั้งวัน ควรมีมุ้งติดบ้านไว้
เพราะการนอนพักผ่อนในช่วงกลางวันอาจเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดได้ โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยตามพื้นที่ที่อยู่ใกล้ป่าและแหล่งน้ำ เพราะมีความเสี่ยงที่จะถูกยุงกัดและติดเชื้อไข้เลือดออกได้ตลอดปี
3. ใช้วิธีป้องกันยุงแบบอื่น ๆ
นอกจากวิธีในข้างต้น ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดได้ เช่น
- ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท
- เปิดพัดลมระหว่างวันเพื่อป้องกันยุงบินตอม
- เปิดแอร์หรือเครื่องปรับอากาศในที่พักอาศัย
- สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อป้องกันยุงกัด
- ทาโลชั่นหรือครีมกันยุง แต่ควรระมัดระวังการใช้ในเด็กอ่อนเพราะผิวหนังของเด็กบอบบาง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงใด ๆ กับเด็ก
- ติดตั้งมุ้งลวดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันยุงเข้ามาภายในบ้าน
4. รับวัคซีนไข้เลือดออก
การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าอาจป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การได้รับวัคซีนจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกี่ หากติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงและความอันตรายของโรคได้
วัคซีนไข้เลือดออกสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9–45 ปี ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นประจำทุกปี การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกจึงอาจเป็นวิธีที่จำเป็นเพื่อลดความรุนแรงของโรคและโอกาสในการเสียชีวิต โดยก่อนการฉีดวัคซีน ควรแจ้งแพทย์ถึงอายุ โรคประจำตัว และยาที่ใช้เสมอ
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน
ยาแอสไพริน (Aspirins) เป็นยาแก้ปวดที่ไม่มีสเตียรอยด์หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ยากลุ่มนี้จะเข้าไปขยายหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น การใช้ยาแอสไพรินและยาในกลุ่มเดียวกัน อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) อาจเพิ่มความเสี่ยงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนอันตรายในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพราะเดิมทีโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยเลือดออกง่ายอยู่ก่อนแล้ว
เนื่องจากอาการปวดตามร่างกายและเป็นไข้ หลายคนอาจเข้าใจว่าไม่สบายด้วยโรคหวัด จึงไม่ได้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเลือกใช้ยา หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออก ควรเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้และอาจใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาปวดและลดไข้แทน หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์
6. เพิ่มภูมิต้านทานและความแข็งแรงให้ร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยให้ร่างกายรับมือกับการเจ็บป่วยและการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ดีขึ้น ทั้งยังอาจลดความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมอาจช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงของร่างกาย
การดูแลตนเองทำได้ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงความเครียด แต่ถึงอย่างนั้น การดูแลตนเองเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันโรคได้ จึงควรป้องกันตนเองด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย
วิธีเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งควรให้ความสำคัญกับทุกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงของการถูกยุงกัดและการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกาย ควรเฝ้าสังเกตอาการอยู่ตลอด ร่วมกับการดูแลตนเอง อาจเลือกใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้และบรรเทาปวดตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร
หากอาการไม่ดีขึ้นและพบสัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออก เช่น ไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หนาวสั่น ปวดท้อง กดท้องแล้วเจ็บ อาเจียนเกิน 3 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง อาเจียนเป็นเลือด เลือดออกตามไรฟัน อุจจาระมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์ทันที