วิธีรักษาฝีด้วยตัวเองไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม มักเหมาะสำหรับฝีที่มีขนาดเล็กหรือไม่รุนแรง ซึ่งการรักษาฝีด้วยตัวเองจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและรักษาให้ฝีดีขึ้น ในกรณีที่ฝีมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาฝีต่อไป
ฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน โดยฝีที่ไม่รุนแรงจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีหนองใต้ผิวหนังเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดการอักเสบและอาการเจ็บได้ ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณที่มีขน ถึงแม้ฝีที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่วิธีการรักษาฝีด้วยตัวเองจะช่วยบรรเทาอาการของฝีให้ดีขึ้น
วิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญในการรักษาฝีคือไม่ควรบีบหรือเจาะฝีด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของผิวหนังได้ โดยวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง มีดังนี้
1. ประคบร้อน
ประคบร้อนเป็นวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยนำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น จากนั้นวางประคบไว้บริเวณที่เป็นฝีประมาณ 10–15 นาที วันละ 3–4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวม สามารถประคบร้อนได้จนกว่าฝีจะมีอาการดีขึ้น โดยทั่วไป การประคบร้อนจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการรักษาฝีให้หายดี
2. ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองวิธีนี้ บริเวณที่เป็นฝีควรสะอาดและแห้งอยู่เสมอ โดยใช้สบู่และน้ำอุ่นเพื่อทำความสะอาดบริเวณฝีวันละ 2 ครั้ง จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง ควรแยกผ้าที่สัมผัสฝีออกจากผ้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝีและล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสโดนฝี เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่น
3. ใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดฝี
หลังจากล้างทำความสะอาดและเช็ดฝีให้แห้งแล้ว ควรใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดบริเวณที่เป็นฝี เพื่อป้องกันการสัมผัสและก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบริเวณอื่น อีกทั้งการใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดฝีไว้จะช่วยให้ฝีหายเร็วขึ้นได้อีกด้วย
4. ประคบฝีด้วยน้ำขมิ้นสด
ขมิ้นเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ ขมิ้นสามารถนำมารักษาอาการทางผิวหนังได้หลายอาการ รวมถึงรักษาฝี เพียงนำสำลีชุบน้ำขมิ้นสด จากนั้นประคบบริเวณฝีประมาณ 5–10 นาทีแล้วเช็ดออกทันทีเพื่อไม่ให้เหลือคราบเหลืองจากขมิ้นทิ้งไว้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแพ้หรือระคายเคืองเกิดขึ้น ควรหยุดใช้ขมิ้นทันที
5. พอกฝีด้วยกระเทียมสด
กระเทียม สดมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถช่วยรักษาฝีและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบริเวณอื่น ซึ่งวิธีการรักษาฝีด้วยตัวเองโดยการใช้กระเทียมสดนั้นจะเริ่มจากบดกระเทียมให้ละเอียด จากนั้นนำไปพอกบริเวณฝีและปิดด้วยผ้าที่เปียกและเย็น ทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออก ควรทิ้งระยะห่างในการพอกอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หากพบว่าไม่เกิดอาการแสบผิวหรืออาการแพ้จึงค่อยพอกกระเทียมครั้งต่อไป
วิธีนี้สามารถใช้กระเทียมสดร่วมกับน้ำผึ้งเพื่อพอกฝีได้ เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ โดยน้ำผึ้งจะช่วยลดกลิ่นกระเทียม เพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยลดอาการระคายเคืองได้
6. หยดน้ำมันละหุ่งลงบนฝี
น้ำมันละหุ่ง ประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ทาฝีเพื่อยับยั้งการกระจายเชื้อไปยังบริเวณอื่น การรักษาฝีด้วยน้ำมันละหุ่ง สามารถทำได้โดยการหยดน้ำมันละหุ่งในปริมาณเล็กน้อยลงบนฝี อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้น้ำมันละหุ่งต่อหากเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิว
7. หยดน้ำมันสะเดาลงบนฝี
วิธีรักษาฝีด้วยตัวเองโดยใช้น้ำมันสะเดาสามารถรักษาอาการผิวหนังติดเชื้อต่าง ๆ และรักษาฝีได้ เพราะน้ำมันสะเดามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยเริ่มจากการล้างมือให้สะอาดก่อนหยดน้ำมันสะเดาลงบนฝี วันละ 3–4 ครั้ง การใช้น้ำมันละหุ่งในการรักษาฝีอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ หากมีอาการผิดปกติควรหยุดใช้ทันที
8. ทาฝีด้วยสารสกัด Tea tree oil
สารสกัดจาก Tea tree oil มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ทำให้สารสกัด Tea tree oil เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาฝีด้วยตนเอง เพราะสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุในเกิดฝีได้ โดยผสมสารสกัดชนิดนี้ 5 หยดกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา จากนั้นทาลงบนฝีวันละ 2–3 ครั้ง ฝีจะค่อย ๆ หายไป แต่หากรู้สึกแสบร้อนผิวและระคายเคืองผิวหลังใช้สารสกัด Tea tree oil ควรหยุดใช้ทันที
9. รับประทานยาแก้ปวด
อีกหนึ่งอาการที่เด่นชัดของการเป็นฝี คือ อาการเจ็บเมื่อโดนสัมผัส ดังนั้น หากรู้สึกเจ็บฝี ควรทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) และ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บและลดการอักเสบ ในบางรายอาจมีไข้ที่เกิดจากการเป็นฝี ก็สามารถทานยาเหล่านี้ได้เช่นกัน
โดยทั่วไป ฝีสามารถหายได้เองภายใน 1–3 สัปดาห์ หากใข้วิธีรักษาฝีด้วยตนเองแล้วฝียังคงไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ฝีมีขนาดใหญ่ขึ้น เจ็บฝีอย่างรุนแรง และมีไข้สูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป