วิธีรักษาฝีด้วยตัวเองไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม มักเหมาะสำหรับฝีที่มีขนาดเล็กหรือไม่รุนแรง ซึ่งการรักษาฝีด้วยตัวเองจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและรักษาให้ฝีดีขึ้น ในกรณีที่ฝีมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาฝีต่อไป
ฝี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรูขุมขน โดยฝีที่ไม่รุนแรงจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีหนองใต้ผิวหนังเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดการอักเสบและอาการเจ็บได้ ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณที่มีขน ถึงแม้ฝีที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่วิธีการรักษาฝีด้วยตัวเองจะช่วยบรรเทาอาการของฝีให้ดีขึ้น
วิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญในการรักษาฝีคือไม่ควรบีบหรือเจาะฝีด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของผิวหนังได้ โดยวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง มีดังนี้
1. ประคบร้อน
ประคบร้อนเป็นวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยนำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น จากนั้นวางประคบไว้บริเวณที่เป็นฝีประมาณ 10–15 นาที วันละ 3–4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวม สามารถประคบร้อนได้จนกว่าฝีจะมีอาการดีขึ้น โดยทั่วไป การประคบร้อนจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการรักษาฝีให้หายดี
2. ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองวิธีนี้ บริเวณที่เป็นฝีควรสะอาดและแห้งอยู่เสมอ โดยใช้สบู่และน้ำอุ่นเพื่อทำความสะอาดบริเวณฝีวันละ 2 ครั้ง จากนั้นใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง ควรแยกผ้าที่สัมผัสฝีออกจากผ้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝีและล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสโดนฝี เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่น
3. ใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดฝี
หลังจากล้างทำความสะอาดและเช็ดฝีให้แห้งแล้ว ควรใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดบริเวณที่เป็นฝี เพื่อป้องกันการสัมผัสและก่อให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบริเวณอื่น อีกทั้งการใช้แผ่นปิดแผลหรือผ้าก๊อซปิดฝีไว้จะช่วยให้ฝีหายเร็วขึ้นได้อีกด้วย
4. ประคบฝีด้วยน้ำขมิ้นสด
ขมิ้นเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ ขมิ้นสามารถนำมารักษาอาการทางผิวหนังได้หลายอาการ รวมถึงรักษาฝี เพียงนำสำลีชุบน้ำขมิ้นสด จากนั้นประคบบริเวณฝีประมาณ 5–10 นาทีแล้วเช็ดออกทันทีเพื่อไม่ให้เหลือคราบเหลืองจากขมิ้นทิ้งไว้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแพ้หรือระคายเคืองเกิดขึ้น ควรหยุดใช้ขมิ้นทันที
5. พอกฝีด้วยกระเทียมสด
กระเทียม สดมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถช่วยรักษาฝีและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบริเวณอื่น ซึ่งวิธีการรักษาฝีด้วยตัวเองโดยการใช้กระเทียมสดนั้นจะเริ่มจากสับหรือบดกระเทียมจนเนื้อกระเทียมละเอียด จากนั้นนำไปพอกบริเวณฝีและปิดด้วยผ้าที่เปียกและเย็น ทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออก ควรทิ้งระยะห่างในการพอกอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หากพบว่าไม่เกิดอาการแสบผิวหรืออาการแพ้จึงค่อยพอกกระเทียมครั้งต่อไป
วิธีนี้สามารถใช้กระเทียมสดร่วมกับน้ำผึ้งเพื่อพอกฝีได้ เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ โดยน้ำผึ้งจะช่วยลดกลิ่นกระเทียม เพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยลดอาการระคายเคืองได้
6. หยดน้ำมันละหุ่งลงบนฝี
น้ำมันละหุ่ง ประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้ทาฝีเพื่อยับยั้งการกระจายเชื้อไปยังบริเวณอื่น การรักษาฝีด้วยน้ำมันละหุ่ง สามารถทำได้โดยการหยดน้ำมันละหุ่งในปริมาณเล็กน้อยลงบนฝี อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้น้ำมันละหุ่งต่อหากเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิว
7. หยดน้ำมันสะเดาลงบนฝี
วิธีรักษาฝีด้วยตัวเองโดยใช้น้ำมันสะเดาสามารถรักษาอาการผิวหนังติดเชื้อต่าง ๆ และรักษาฝีได้ เพราะน้ำมันสะเดามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยเริ่มจากการล้างมือให้สะอาดก่อนหยดน้ำมันสะเดาลงบนฝี วันละ 3–4 ครั้ง การใช้น้ำมันละหุ่งในการรักษาฝีอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ หากมีอาการผิดปกติควรหยุดใช้ทันที
8. ทาฝีด้วยสารสกัด Tea tree oil
สารสกัดจาก Tea tree oil มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ทำให้สารสกัด Tea tree oil เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาฝีด้วยตนเอง เพราะสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุในเกิดฝีได้ โดยผสมสารสกัดชนิดนี้ 5 หยดกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา จากนั้นทาลงบนฝีวันละ 2–3 ครั้ง ฝีจะค่อย ๆ หายไป แต่หากรู้สึกแสบร้อนผิวและระคายเคืองผิวหลังใช้สารสกัด Tea tree oil ควรหยุดใช้ทันที
9. รับประทานยาแก้ปวด
อีกหนึ่งอาการที่เด่นชัดของการเป็นฝี คือ อาการเจ็บเมื่อโดนสัมผัส ดังนั้น หากรู้สึกเจ็บฝี ควรทานยาแก้ปวด เช่น อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) และ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บและลดการอักเสบ ในบางรายอาจมีไข้ที่เกิดจากการเป็นฝี ก็สามารถทานยาเหล่านี้ได้เช่นกัน
โดยทั่วไป ฝีสามารถหายได้เองภายใน 1–3 สัปดาห์ หากใช้วิธีรักษาฝีด้วยตนเองแล้วฝียังคงไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ฝีมีขนาดใหญ่ขึ้น เจ็บฝีอย่างรุนแรง และมีไข้สูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป