6 วิธีรักษาเหงือกบวม

เมื่อเกิดอาการเหงือกบวม วิธีรักษาเหงือกบวมอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่หลายคนมองหาเพื่อนำแนวทางนั้นมาบรรเทาอาการ เนื่องจากเหงือกบวมมักมาพร้อมกับอาการปวด ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การพูดคุย หรือการแปรงฟันในตอนเช้าและก่อนเข้านอน

เหงือกบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะเหงือกอักเสบ ที่เกิดขึ้นเพราะรักษาความสะอาดในช่องปากได้ไม่ดี โดยบริเวณเหงือกที่เกิดอาการบวมที่พบได้บ่อยคือ บริเวณที่ติดกับฟัน นอกจากอาการบวมแล้ว ผู้ที่มีอาการเหงือกบวมยังอาจพบปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหงือกเปลี่ยนเป็นสีแดง มีเลือดปนออกมาขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน

6 วิธีรักษาเหงือกบวมด้วยตนเอง

สาเหตุที่พบได้บ่อย เรื่องควรรู้ก่อนทำความรู้จักกับวิธีรักษาเหงือกบวม

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับวิธีรักษาเหงือกบวม ควรเข้าใจก่อนว่าสาเหตุของอาการเหงือกบวมมีอะไรบ้าง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ภาวะเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ซึ่งเป็นภาวะแรกเริ่มของโรคเหงือก

ภาวะเหงือกอักเสบเป็นภาวะที่มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่รักษาความสะอาดในช่องปากได้ไม่ดี จนส่งผลให้เกิดคราบพลัค คราบหินปูน และแบคทีเรียสะสม และนำไปสู่การอักเสบและบวมแดงของเหงือกตามมา

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ของอาการเหงือกบวมที่อาจพบได้ เช่น

  • การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงหนา การแปรงฟันแรงเกินไป หรือการใช้ไหมขัดฟันแรงเกินไป
  • การเปลี่ยนเแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่มักเกิดในช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง และเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจส่งผลให้มีเลือดไหลเวียนไปที่เหงือกมากขึ้น จนเหงือกเกิดอาการบวม แดง และเสี่ยงต่อการระคายเคืองได้ง่าย
  • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี วิตามินซี หรือธาตุเหล็ก
  • การติดเชื้อต่าง ๆ บริเวณเหงือก เช่น โรคปริทันต์อักเสบ
  • การทำเคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหลายคนเกิดอาการข้างเคียงได้หลายอย่าง เช่น เหงือกบวม เจ็บเหงือก และมีเลือดออกบริเวณเหงือก

วิธีรักษาเหงือกบวม ควรทำอย่างไรบ้าง

ผู้ที่กำลังมองหาวิธีรักษาเหงือกบวม อาจลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้

1. รักษาความสะอาดของช่องปาก
รักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการ
แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ทั้งนี้ ควรแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างเบามือและเลือกแปรงสีฟันที่ขนแปรงนุ่ม เพื่อป้องกันการเกิดการระคายเคือง และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน

2. บ้วนปาก
บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อกำจัดแบคทีเรียต่าง ๆ ในช่องปาก

3. ประคบ
ประคบร้อนหรือเย็นบนใบหน้าบริเวณที่เหงือกบวม เพื่อบรรเทาอาการเจ็บเหงือกและเหงือกบวม

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีสารอาหารสำคัญต่อการป้องกันโรคหรือปัญหาทางเหงือก อย่างวิตามินซีและแคลเซียม

5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารต่าง ๆ ที่อาจตกค้าง รวมถึงช่วยป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ

6. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
ป้องกันตัวเองจากสารก่อการระคายเคืองต่าง ๆ เช่น น้ำยาบ้วนปากที่ออกฤทธิ์รุนแรง เครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ และบุหรี่

7. ไปพบทันตแพทย์

หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่มีสัญญาณของภาวะเหงือกอักเสบ เช่น เหงือกแดง พบเลือดออกบริเวณเหงือก มีกลิ่นปาก หรือเหงือกร่น ซึ่งวิธีรักษาเหงือกบวมจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน สาเหตุของอาการเหงือกบวม และดุลยพินิจของทันตแพทย์ 

โดยการรักษาที่แพทย์มักใช้ เช่น การใช้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดที่มีส่วนช่วยลดคราบพลัค การใช้ยาสีฟันบางชนิด หรือการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หากจำเป็น

นอกนั้น ควรการป้องกันตัวเองจากการเกิดอาการเหงือกบวมหรือปัญหาช่องปากอื่น ๆ ด้วยการไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจจะปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับความถี่ที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อให้ทันตแพทย์ประเมินและให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อแต่ละคนไป