วิธีลดไข้ทารกสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

เมื่อลูกน้อยมีไข้ คุณพ่อคุณแม่คงเกิดอาการร้อนใจและรีบหาวิธีลดไข้ทารกกันอย่างแน่นอน จริง ๆ แล้วอาการไข้เป็นผลมาจากกลไกของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายในการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย แต่อาการไข้ก็สามารถทำให้ลูกน้อยเกิดอาการไม่สบายตัวได้เช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่รู้วิธีลดไข้อย่างถูกวิธี ก็จะสามารถรับมือเมื่อลูกน้อยมีไข้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น 

อาการไข้ในเด็กทารกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีไข้จากการสัมผัสอากาศที่ร้อนเกินไป มีไข้หลังจากฉีดวัคซีนซึ่งเป็นปฏิกิริยาของวัคซีน หรือมีไข้จากการติดเชื้ออื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการไข้ของลูกได้จากการใช้หลังมือทาบลงบนหน้าผากแล้วรู้สึกร้อน หรือใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกายได้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังมีสีแดง รวมถึงมีอาการร้องไห้งอแงเหมือนไม่สบายตัวด้วย

How to reduce baby fever

เมื่อเด็กทารกเป็นไข้ ควรทำอย่างไร

หากเด็กทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ส่วนทารกที่อายุมากกว่านั้นหากเป็นไข้ที่ไม่รุนแรงอาจใช้วิธีลดไข้ทารก เพื่อช่วยให้อาการไข้หวัดที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยบรรเทาลงและป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ตามมา โดยคุณพ่อคุณแม่มือใหม่สามารถปฏิบัติตามวิธีลดไข้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

รักษาอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม

เมื่อเป็นไข้เด็กทารกมักมีอาการตัวร้อนร่วมด้วย ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นประมาณ 15 นาทีเพื่อช่วยระบายอุณหภูมิร่างกาย จากนั้นเช็ดตัวให้แห้งและใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป เพื่อให้เด็กทารกรู้สึกสบายตัว อาจเปิดพัดลมหรือเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศในห้องถ่ายเทได้สะดวกร่วมด้วย แต่ต้องระวังไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป

ดื่มน้ำมาก ๆ

การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยรักษาปริมาณของของเหลวในร่างกายและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากอาการไข้ โดยเครื่องดื่มที่สามารถให้เด็กทารกดื่มได้คือน้ำเปล่าที่สะอาด นมแม่ หรือนมผง แต่ในกรณีของเด็กทารกที่อายุไม่เกิน 6 เดือน จะดื่มได้แค่นมแม่หรือนมผงเท่านั้น นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอว่าเด็กทารกริมฝีปากไม่แห้ง มีน้ำตาเมื่อร้องไห้ และยังคงปัสสาวะตามปกติ

ใช้ยาลดไข้

การรักษาด้วยยาลดไข้ควรใช้ในเด็กทารกที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยจะต้องใช้ยาที่ระบุว่าเป็นยาลดไข้สำหรับเด็กทารกเท่านั้น และแม้เด็กทารกจะมีอายุมากกว่า 3 เดือนแล้วก็ควรใช้ยาลดไข้เมื่อจำเป็นเท่านั้น คือใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การเช็ดตัว หรือการดื่มน้ำมาก ๆ แล้วไม่ได้ผล อีกทั้งควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา

ตัวอย่างยาลดไข้ที่สามารถใช้ในเด็กทารกได้ เช่น ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือที่รู้จักกันในชื่อยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) โดยยาลดไข้สำหรับเด็กมักอยู่ในรูปแบบของยาน้ำเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน 

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเด็กทารกมีไข้

เมื่อเด็กทารกมีไข้ ควรระมัดระวังการใช้วิธีลดไข้ทารกเพราะบางวิธีอาจไม่เหมาะสมกับเด็กทารกที่มีเงื่อนไขสุขภาพบางอย่าง หรืออาจไม่ใช่วิธีลดไข้ที่ถูกต้องและอาจทำให้อาการไข้แย่ลงได้ ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเด็กทารกมีไข้มีดังนี้

  • ไม่ควรใช้น้ำเย็นในการเช็ดตัวหรืออาบน้ำให้กับเด็กทารกที่มีไข้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ 
  • ไม่ควรเช็ดตัวเด็กทารกด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล เพราะแอลกอฮอล์สามารถเข้าสู่ร่างกายของเด็กได้ทั้งจากการซึมเข้าผิวหนังและการสูดดม ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการไข้ลดลงแล้ว ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะที่รุนแรงยิ่งขึ้นอย่างภาวะโคม่าได้ด้วย
  • ไม่ควรให้เด็กทารกรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อลดไข้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อสุขภาพ เช่น ปวดท้อง เลือดออกในลำไส้ และกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome)
  • ไม่ควรให้เด็กทารกรับประทานยาพาราเซตามอลกับยาไอบูโพรเฟนผสมกัน เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพในการลดไข้เมื่อรับประทานร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • ไม่ควรให้เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือนหรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 5 กิโลกรัมรับประทานยาไอบูโพรเฟน รวมถึงไม่ควรให้เด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 2 เดือนรับประทานยาพาราเซตามอลด้วย
  • ห้ามให้เด็กทารกที่เป็นโรคหอบหืดและโรคอีสุกอีใสรับประทานยาไอบูโพรเฟนโดยไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์

อาการไข้ในเด็กทารกที่ควรไปพบแพทย์

นอกจากเด็กทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งผู้ปกครอบควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีหากมีไข้เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแล้ว หากเด็กทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไปที่มีอาการไข้แล้วมีภาวะสุขภาพบางอย่างหรือมีอาการรุนแรงขึ้นก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เช่นกัน โดยอาการไข้ในเด็กทารกที่ควรไปพบแพทย์มีดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายของเด็กทารกไม่ลดลงภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากรักษาอาการไข้ด้วยวิธีเบื้องต้น
  • เด็กทารกมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น มีผื่น อาเจียน ท้องเสีย ดื่มนมได้น้อย งอแงหรือเซื่องซึมมากกว่าปกติ รวมถึงมีอาการของภาวะขาดน้ำอย่างปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • เด็กทารกมีอาการไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการไข้บ่อยครั้ง
  • เด็กทารกอายุ 3 เดือนถึง 2 ปี ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1–2 วัน โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย
  • เด็กทารกมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) 

เมื่อได้ทราบวิธีลดไข้ทารกอย่างถูกต้องแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถรับมือเมื่อลูกเป็นไข้ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กทารกนั้นบอบบางและอาจเกิดอาการป่วยง่าย อีกทั้งยังไม่สามารถพูดจาสื่อสารอาการป่วยของตัวเองออกมาให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย ถ้าหากมีอาการป่วยเกิดขึ้นจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที