ยาแก้ไอ วิธีเลือกให้ปลอดภัยและเหมาะกับอาการป่วย

ยาแก้ไอคือยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ โดยยาแก้ไอนั้นมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีกลไก จุดประสงค์การใช้ วิธีใช้ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน หากเลือกชนิดของยาแก้ไอให้ถูกกับอาการไอก็จะช่วยบรรเทาอาการไอได้ดียิ่งขึ้นหรือช่วยให้หายไอเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถใช้ยาให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ยาแก้ไอโดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือยาแก้อาการไอแบบไม่มีเสมหะหรือยากดอาการไอ (Antitissusives) กลุ่มที่สองคือยาแก้อาการไอแบบมีเสมหะ เช่น ยาขับเสมหะ (Expectorants) และยาละลายเสมหะ (Mucolytics) 

ยาแก้ไอ

วิธีเลือกยาแก้ไอให้เหมาะกับอาการไอ

การเลือกยาแก้ไอให้ตรงกับอาการไอมีวิธีแบ่งคร่าว ๆ ดังนี้

1. ยาสำหรับอาการไอแห้ง

อาการไอแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่ ไอแห้ง และไอมีเสมหะ สำหรับอาการไอแห้ง ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการใช้ยากดอาการไอ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดประสาทเพื่อระงับอาการไอ ตัวอย่างยากดอาการไอที่ใช้กันทั่วไป ก็เช่น ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) และยาโคเดอีน (Codeine) แต่ยาเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์

2. ยาสำหรับอาการไอมีเสมหะ

ก่อนอื่นควรเข้าใจก่อนว่า ยากดอาการไอนั้นไม่ควรใช้รักษาอาการไอแบบมีเสมหะ เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียวข้นมากขึ้นจนกระตุ้นให้อาการไอรุนแรงขึ้นได้

โดยในการรักษาอาการไอมีเสมหะ ยาที่ควรใช้จะอยู่ในกลุ่มยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่จะช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะและกระตุ้นให้ร่างกายขับเสมหะออกมามากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการใช้ยาอาจทำให้ไอถี่มากขึ้น แต่เมื่อขับเสมหะออกแล้วอาการไอจะดีขึ้นตามลำดับ

ตัวอย่างยาขับเสมหะที่ใช้กันทั่วไป คือ ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) และยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) ซึ่งยาแก้ไอสำหรับอาการไอมีเสมหะอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาบางชนิดในกลุ่มนี้อาจมีส่วนผสมของยาขยายหลอดลมจึงอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นร่วมด้วยได้

3. ยาสำหรับอาการไอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ในบางครั้ง อาการไออาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอและระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคทอนซิลอักเสบ และโรคคออักเสบ

ในกรณีนี้ แพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการติดเชื้อ แต่การใช้ยาปฏิชีวนะจำเป็นต้องใช้ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเอง และใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น เพราะการใช้ยาไม่ต่อเนื่องและไม่ถูกโรคอาจทำให้ร่างกายดื้อต่อยา ส่งผลให้การติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไปรุนแรงและรักษายากขึ้น

4. ยาอื่น ๆ

ในกรณีที่อาการไอเกิดจากอาการแพ้ ผู้ที่มีอาการก็ควรเลือกใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เพราะยาแก้แพ้จะเข้าไปยับยั้งการผลิตสารฮิสตามีนที่จะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการแพ้ อย่างอาการไอและระคายคอ

หรือในบางครั้ง อาการไอก็เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัด (Common Cold) ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่ในระหว่างนี้ก็อาจจะใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ และการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ

5. สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอ

นอกจากการใช้ยาแก้ไอแล้ว ส่วนผสมบางอย่างจากธรรมชาติ ก็อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการไอได้เช่นกัน โดยตัวเลือกที่ผู้ที่มีอาการไอสามารถลองนำไปปรับใช้ได้ก็เช่น

  • การดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ
  • การดื่มน้ำอุ่นผสมกับน้ำผึ้งประมาณ 2 ช้อนชาและน้ำมะนาวเล็กน้อย ทั้งนี้ วิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี
  • น้ำอุ่นผสมผงขมิ้น  

ทั้งนี้ นอกจากการดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาหรือสมุนไพรแล้ว ผู้ที่มีอาการไอควรดูแลตนเองด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ และงดอาหารรสจัด สำหรับคนที่มักไอจากอาการภูมิแพ้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หากใครมีอาการไอจากการติดเชื้อควรสวมหน้ากากอนามัยเช่นกันเดียวกันเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อโรค

วิธีใช้ยาแก้ไอให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเลือกชนิดยาแก้ไอให้ตรงกับอาการแล้ว ควรศึกษาวิธีการใช้ยาแก้ไออย่างปลอดภัย เช่น  

  • แจ้งแพทย์และเภสัชกรก่อนซื้อยาทุกครั้งเกี่ยวกับอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาที่กำลังใช้ ประวัติแพ้ยา สถานะการตั้งครรภ์และให้นมบุตร นอกจากนี้ ควรแจ้งอายุของผู้ใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อผู้ใช้เป็นผู้สูงอายุหรือเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ใช้ยาแก้ไอและยาอื่น ๆ ที่แพทย์สั่งจ่ายตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยากดอาการไอและยาฆ่าเชื้อที่อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้มากกว่ายาประเภทอื่น หากมีคำถามหรือสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
  • ห้ามใช้ยาแก้ไอหรือยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการไอมากกว่า 1 ชนิดพร้อมกัน เพราะอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดและเกิดผลข้างเคียงได้

เมื่อใช้ยาแก้ไอไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น เกิดอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ หายใจไม่อิ่ม ไอติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ หรือกลับมามีอาการไออีกครั้งหลังหายดีแล้ว ผู้มีอาการไอควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ

แต่ในกรณีที่พบผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย รู้สึกสับสน ปัสสาวะไม่ออก หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของผลข้างเคียงอันตราย ผู้มีอาการไอควรไปพบแพทย์ทันที

สุดท้ายนี้ ในกรณีที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับอาการไอและการเจ็บป่วยของตนเอง หรือไม่มีความรู้ในการเลือกซื้อยาแก้ไอ การเข้ารับการตรวจจากแพทย์เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้รักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างตรงจุด