7 วิธีแก้ตาบวมที่ได้ผลและปลอดภัยต่อดวงตา

วิธีแก้ตาบวมมีอยู่หลายวิธี ทั้งวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นและวิธีรักษาโดยแพทย์ โดยวิธีแก้ตาบวมในเบื้องต้นมักใช้รักษาอาการทั่วไปที่ไม่รุนแรง ส่วนวิธีแก้ตาบวมโดยแพทย์อาจใช้รักษาอาการตาบวมที่รุนแรงหรือมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งหากรู้วิธีแนวทางการตาบวมที่ถูกต้องก็จะสามารถรับมือกับอาการตาบวมที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

อาการตาบวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การร้องไห้ การอดนอน แมลงสัตว์กัดต่อย อาการแพ้ ไปจนถึงภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น แม้ว่าอาการตาบวมโดยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่การรักษาอาการในเบื้องต้นจะช่วยลดอาการระคายเคืองตาลง รวมถึงอาจช่วยให้อาการตาบวมหายเร็วขึ้นด้วย

วิธีแก้ตาบวมที่ได้ผลและปลอดภัยต่อดวงตา

วิธีแก้ตาบวมง่าย ๆ

ตัวอย่างวิธีแก้ตาบวมที่อาจสามารถช่วยลดอาการตาบวม ตาแดง รวมถึงอาการคันหรือระคายเคืองตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้

1. ประคบเย็น 

การประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการตาบวมที่ไม่รุนแรงได้ โดยควรประคบเย็นประมาณ 2–3 นาทีพร้อมกับนวดเบา ๆ บริเวณรอบดวงตาไปด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดหรือของเหลวต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่บริเวณดวงตา และทำให้อาการตาบวมลดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบลงบนดวงตาโดยตรง แต่ควรห่อผ้าขนหนูที่สะอาดก่อนประคบเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ดวงตา

2. ประคบด้วยถุงชา 

การประคบด้วยถุงชาสามารถช่วยลดอาการตาบวมได้ โดยนำถุงชาแช่ในน้ำอุ่นแล้วนำไปแช่เย็นประมาณ 20 นาที จากนั้นนำมาวางบริเวณรอบดวงตาประมาณ 15–30 นาทีพร้อมนวดเบา ๆ เนื่องจากคาเฟอีนในชาซึ่งสามารถซึบผ่านผิวหนังได้ และมีสรรพคุณในการช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงทำให้อาการตาบวมลดลงได้ และสารต้านอนุมูลอิสระในดวงตาก็อาจช่วยให้ผิวหนังรอบดวงตาดูสดชื่นขึ้นด้วย

3. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ 

ในบางกรณี ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรือเครื่องสำอาง ก็สามารถทำให้ดวงตาบวมแดงหรือเกิดอาการคันได้ และถ้าหากยิ่งขยี้ตามากขึ้นก็มักจะทำให้ดวงตาบวมมากขึ้นไปอีก หากทราบว่าร่างกายแพ้สารชนิดใดเป็นพิเศษและหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นวิธีแก้ตาบวมจากต้นเหตุได้อีกทางหนึ่ง

4. ใช้ยาหยอดตา 

หากดวงตามีอาการบวมหรือระคายเคืองซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดที่มีส่วนผสมของยาต้านอิสตามีนในการช่วยรักษาอาการแพ้เหล่านี้ได้ โดยยาหยอดตาส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงต่อดวงตาตามมา

5. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารอาจเป็นวิธีแก้ตาบวมอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลในระยะยาว โดยอาการตาบวมในบางกรณีอาจเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำ ผู้ที่มีอาการตาบวมบ่อย ๆ จึงควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอประมาณ 8 แก้วต่อวัน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำด้วย

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาจทำให้ร่างกายบวมน้ำและเกิดอาการตาบวมตามมาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเหล่านี้และเน้นรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสมแทน รวมถึงอาจเลือกรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ถั่ว และผักใบเขียว เพราะโพแทสเซียมมีสรรพคุณในการช่วยลดของเหลวส่วนเกินในร่างกายได้นั่นเอง

6. พักผ่อนให้เพียงพอ 

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในท่าทางที่เหมาะสมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจสามารถช่วยลดอาการตาบวมได้ โดยในวัยผู้ใหญ่ควรนอนหลับประมาณวันละ 7–9 ชั่วโมง และควรนอนหนุนหมอนสูงเล็กน้อย เพื่อช่วยยกศีรษะขึ้นและไม่ทำให้เกิดของเหลวสะสมบริเวณโดยรอบดวงตาขณะที่กำลังนอนหลับ

7. รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

การรักษาอาการตาบวมโดยแพทย์จะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วย 

ตัวอย่างการรักษาอาการตาบวมโดยแพทย์ เช่น การใช้ยาในกลุ่มยาต้านฮีสตามีนและกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นเพื่อรักษาอาการตาบวมที่มีสาเหตุมาจากการแพ้ หรือการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาอาการตาบวมที่เป็นผลมาจากการเกิดภาวะบวมน้ำ อย่างไรก็ตาม แพทย์มักใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาอาการตาบวมที่รุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผลเท่านั้น

ดังนั้น นอกเหนือไปจากการรู้วิธีแก้ตาบวมอย่างเหมาะสม คุณควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการตาบวมด้วย เช่น ความเฉียบพลันของอาการ ความเจ็บปวดหรือระคายเคือง สิ่งแปลกปลอมที่พบภายในดวงตา และการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาเกี่ยวกับตาที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์นั่นเอง