สะอึกเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่พบได้ในเด็กทุกคน แม้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียง 1-2 ชั่วโมงและอาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากช่วยให้ลูกรักหายจากอาการสะอึกได้เร็วขึ้น ดังนั้น บทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีแก้สะอึกในเด็กมาให้ศึกษากัน
โดยทั่วไป อาการสะอึกเป็นการหดเกร็งซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อกระบังลมที่เป็นตัวกั้นระหว่างช่องอกและช่องท้องและทำหน้าที่ช่วยควบคุมการหายใจเข้าออก โดยการหดเกร็งผิดปกตินี้จะเกิดร่วมกับกล่องเสียงและเส้นเสียงที่ปิดลงฉับพลัน ส่งผลให้อากาศที่กำลังเข้าสู่ปอดถูกปิดกั้น เกิดเป็นเสียงสะอึกออกมาในที่สุด
อาการสะอึกนี้เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น รับประทานอาหารในปริมาณมาก กลืนอากาศมากไป ดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีฟอง อุณหภูมิร่างกายหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รู้สึกประหม่า ตื่นเต้น หรือมีความเครียด แม้ส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก แต่อาจทำให้รู้สึกรำคาญใจหรือไม่สบายตัวได้
วิธีแก้สะอึกในเด็ก ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าสะอึกเป็นอาการที่ไม่น่ากังวลและมักหายได้ในเวลาไม่นาน ซึ่งการปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้ลูกน้อยหยุดสะอึกได้เร็วยิ่งขึ้น
- จิบน้ำเย็น
เนื่องจากน้ำเย็นจัดอาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและการหดเกร็งของกระบังลม ทำให้กระบังลมสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ พ่อแม่สามารถลองวิธีนี้เพื่อช่วยแก้ไขอาการสะอึกของลูกได้เช่นกัน
- กดที่หน้าท้องเบา ๆ
การกดบริเวณท้องส่วนบนของเด็กอย่างเบามือเป็นอีกทางที่อาจช่วยแก้ปัญหาลูกสะอึกได้ แต่วิธีนี้ผู้ปกครองต้องกดท้องในจังหวะเดียวกันกับที่เด็กสะอึกด้วยจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
- กำหนดลมหายใจ
วิธีนี้มีหลายเทคนิคย่อยที่คุณพ่อคุณแม่ลองใช้กับเด็กโตได้ตามสมควร เช่น- หายใจเข้าออกในถุงกระดาษ
- หายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที หลังจากหายใจออกให้ดื่มน้ำตามทันที
- เงยหน้าขึ้นแล้วกลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที จากนั้นให้หายใจออกยาว ๆ แล้วดื่มน้ำตามทันที
- กลั้นหายใจแล้วกลืนน้ำลาย 3-4 ครั้ง หลังจากนั้นให้หายใจออกทันที
- จั๊กจี้
การจั๊กจี้จะช่วยให้เด็กเลิกจดจ่อหรือหยุดนึกถึงอาการสะอึกที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้การสะอึกนั้นหายไปด้วยได้ หากคิดจะลองใช้วิธีนี้ควรจั๊กจี้แต่พอดี ไม่เช่นนั้น ลูกน้อยอาจดิ้นจนเกิดการบาดเจ็บหรือหายใจไม่ทันได้
- จิบน้ำชา
กล่าวกันว่าคาโมมายล์และเปปเปอร์มินต์มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ พ่อแม่อาจนำสมุนไพรเหล่านี้มาชงเป็นชา แล้วค่อย ๆ ให้จิบชาในปริมาณเล็กน้อย โดยอาจจิบซ้ำ ๆ จนกว่าอาการสะอึกจะหายไป
ข้อควรระวังเกี่ยวกับวิธีแก้สะอึกในเด็ก
เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเด็ก พ่อแม่ควรระมัดระวังในการใช้วิธีแก้สะอึกใด ๆ และหลีกเลี่ยงวิธีที่อาจเป็นผลเสียแก่ร่างกายของลูกน้อยด้วย เช่น
- การทำให้เด็กตกใจกลัวจนหายสะอึกถือเป็นวิธีที่นิยมกันมาก แต่ผู้ปกครองอาจต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันลูกน้อยตกใจจนได้รับบาดเจ็บหรือรู้สึกหวาดกลัวจนเกินไป
- การให้เด็กรับประทานของเผ็ดอาจเป็นวิธีที่ช่วยให้หายสะอึกได้ แต่ก็อาจทำให้ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน หรืออาจทำให้อาการสะอึกของลูกน้อยแย่ลงกว่าเดิม
- การดื่มน้ำขณะอยู่ในท่ากลับหัวโดยให้น้ำไหลผ่านบนเพดานปากแทนลิ้น ซึ่งอาจทำให้เด็กสำลักน้ำได้
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้สะอึกในเด็กยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถบรรเทาอาการได้ทุกครั้ง หากพ่อแม่หรือตัวเด็กเองต้องการใช้วิธีเหล่านี้ก็ควรปฏิบัติด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ในกรณีที่วิธีข้างต้นใช้ไม่ได้ผล สะอึกนานกว่าที่เคยเป็น หรืออาการสะอึกทำให้เด็กหายใจไม่สะดวก นอนไม่หลับ หรือรับประทานอาหารได้ลำบาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม