วิธีแก้เมากัญชาที่ควรรู้ไว้เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

การรู้วิธีแก้เมากัญชาอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมและลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพเมื่อกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเกิดจากการใช้กัญชาโดยตรง การได้รับควันของกัญชาจากผู้อื่น หรือการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่รู้ตัว 

อาการเมากัญชา คือปฏิกิริยาผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังได้รับกัญชาเข้าสู่ร่างกายอาการผิดปกติที่เกิด โดยมักเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับกัญชาในปริมาณมาก จึงอาจพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ถือเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เพราะอาจทำให้คุณไม่สามารถประคองสติสัมปชัญญะได้อย่างครบถ้วน และนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น

วิธีแก้เมากัญชา

อาการเมากัญชาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตาแดง ปากแห้ง ผิวหนังซีด หายใจไม่ออก เหนื่อย ใจสั่น เจ็บหน้าอก การรับรู้ลดลง ปวดศีรษะ หน้ามืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น หากมีอาการเมากัญชาอย่างรุนแรงจะถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีแก้เมากัญชาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการเมากัญชาเกิดขึ้น อาจรับมือกับอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียนในเบื้องต้นด้วยการจิบน้ำมาก ๆ โดยอาจจิบน้ำขิง น้ำมะนาวสดผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการเคี้ยวพริกไทยหรือการอมเกลือประมาณ 1 หยิบมือไว้ใต้ลิ้นก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อาการเมากัญชาอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ และวิธีบรรเทาอาการด้วยตัวเองก็อาจไม่ได้ผลด้วยเช่นกัน จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการขึ้น 

ซึ่งวิธีการรักษาอาการเมากัญชาโดยแพทย์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ปริมาณของกัญชาที่ร่างกายผู้ป่วยได้รับ และเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยมีรายละเอียดการรักษาดังนี้

1. ดูแลการหายใจของผู้ป่วย

แพทย์หรือพยาบาลจะจัดท่าทางของผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมสำหรับการหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงจัดเสื้อผ้าหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบของผู้ป่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกด้วย นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องให้ออกซิเจนหรือใส่เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหายใจลำบากหรือการหายใจล้มเหลว

2. ให้สารน้ำทดแทน

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือมีชีพจรเต้นเร็ว แพทย์หรือพยาบาลจะให้สารน้ำหรือน้ำเกลือผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยสารน้ำที่ให้แก่ผู้ป่วยจะเป็นสารน้ำชนิดคริสตอลลอยด์ (Crystalloid Fluid) เพื่อช่วยทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป และช่วยรักษาสมดุลของระบบไหลเวียนโลหิตให้เป็นปกติด้วย

3. ให้ยาระงับประสาท

แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาระงับประสาทกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) เช่น ยาไดอะซีแพม  (Diazepam) หรือยาลอราซีแพม (Lorazepam) แก่ผู้ป่วยที่มีอาการกระวนกระวายใจ หวาดระแวง หรือวิตกกังวล รวมถึงอาจใช้เพื่อระงับอาการชัก หรือใช้เพื่อบรรเทาอาการอาเจียนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้อาเจียนชนิดทั่วไปด้วย

4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก แพทย์อาจทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram) แก่ผู้ป่วย เพื่อตรวจหาสัญญาณของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Ischemia) หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction)

5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ 

แพทย์อาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด หรือการตรวจปัสสาวะ ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเสพหรือได้รับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย หรืออาจส่งตรวจซีทีสแกน (CT Scan) สมอง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางระบบประสาทอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน

อาการเมากัญชาถือเป็นภาวะร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากการใช้กัญชา เช่น วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม  คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก แขนขาอ่อนแรง และคล้ายจะหมดสติ ควรขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ อาการเมากัญชาอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการทางการแพทย์เช่นกัน โดยอาจเกี่ยวข้องกับปริมาณของกัญชาที่ใช้และประเภทของการรักษา ซึ่งควรใช้กัญชาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด และอาจปรึกษาแพทย์อีกครั้งเกี่ยวกับปริมาณการใช้ที่เหมาะสมด้วย