วิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และเคล็ดลับในการวัดให้แม่นยำ

วิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วที่ถูกต้องจะช่วยให้การวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วแม่นยำมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่แม่นยำอาจช่วยให้เห็นว่าปอดและหัวใจทำงานเป็นปกติหรือไม่ แม้ว่าเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอาจดูใช้งานไม่ยาก แต่ก็มีข้อควรระวังที่หลายคนไม่รู้ว่าส่งผลต่อการวัดได้

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายตัวหนีบที่มาพร้อมกับหน้าจอดิจิทัลแสดงค่า นอกจากการวัดระดับออกซิเจนแล้ว เครื่องนี้ยังสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย ซึ่งทั้งสองค่านี้อาจจำเป็นต่อผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและโรคหัวใจ เช่น โรคโควิด-19 โรคปอดบวม โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

วิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และเคล็ดลับในการวัดให้แม่นยำ

วิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอย่างถูกต้อง

ในบทความนี้จะแบ่งวิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นตอนการวัด

เมื่อต้องการวัดระดับออกซิเจนหรืออัตราการเต้นของหัวใจก็เพียงเปิดเครื่อง และหนีบตัวเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเข้ากับนิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่ง โดยควรหนีบให้พอดี ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป และควรรู้สึกถึงแรงกดเบา ๆ บริเวณปลายนิ้วในขณะหนีบ แต่ต้องไม่ทำให้รู้เจ็บหรือปวด ซึ่งนอกจากนิ้วมือแล้ว ยังสามารถใช้หนีบกับติ่งหูและปลายนิ้วเท้าได้เช่นเดียวกัน

เมื่อหนีบเครื่องเข้ากับนิ้วแล้ว เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วจะทำงาน โดยด้านในของตัวเครื่องทั้งสองด้านจะมีช่องส่งคลื่นแสง ซึ่งจะส่องผ่านผิวหนังและเนื้อเยื่อปลายนิ้วตกกระทบไปยังช่องรับคลื่นแสงอีกด้านหนึ่ง จากนั้นตัวเครื่องจะเริ่มคำนวณระดับออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที แล้วแสดงผลบนหน้าจอของตัวเครื่อง

โดยเครื่องนี้สามารถหนีบติดไว้กับได้ตลอดทั้งวัน แต่อาจไม่จำเป็นหากไม่ได้อยู่ในภาวะเฝ้าระวังอาการร้ายแรง หรือแพทย์ไม่ได้แนะนำให้วัดระดับออกซิเจนตลอดทั้งวัน

นอกจากการใช้เบื้องต้นเหล่านี้แล้ว วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้ผลลัพธ์จากการวัดออกซิเจนปลายนิ้วแม่นยำมากขึ้น

  • นั่งนิ่ง ๆ ยืดหลังตรงอยู่กับที่ ทั้งก่อนและระหว่างวัดค่า
  • มือและนิ้วควรอยู่ในอุณหภูมิปกติ ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง และวางไว้ต่ำกว่าระดับหัวใจ
  • ควรเลี่ยงการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วในที่ที่มีแสงจ้า เช่น ด้านนอกอาคารที่มีแสงอาทิตย์ หรือห้องภายในอาคารที่เปิดไฟสว่างกว่าปกติ
  • กรณีที่มีการทาเล็บ ควรล้างหรือเช็ดสีทาเล็บออกก่อน เนื่องจากจะทำให้การรับส่งลำแสงของเครื่องเพี้ยน ส่งผลให้ค่าที่ได้ไม่แม่นยำ
  • คนที่มีรอยสักหรือสีของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วเปลี่ยนไป ควรนำเครื่องไปหนีบบริเวณนิ้วเท้าหรือติ่งหูแทน
  • การสูบบุหรี่อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดได้ จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพิ่มเติมถึงวิธีวัดออกซิเจนให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด

ขั้นตอนการอ่านค่า

การอ่านค่าออกซิเจนหลังการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีเกณฑ์การประเมิน ดังนี้

  • 95–99% ค่าออกซิเจนอยู่ในระดับปกติและสุขภาพดี
  • ต่ำกว่า 92% มีแนวโน้มของภาวะค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติ
  • ต่ำกว่า 90% อยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำ 

หากค่าการวัดออกซิเจนจากปลายนิ้วชี้ว่า ระดับออกซิเจนต่ำกว่า ต่ำกว่า 90% แม้ทดสอบซ้ำ ควรไปพบแพทย์

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับวิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว

นอกจากการวิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอย่างถูกต้องแล้ว เรื่องต่อไปนี้ก็สำคัญต่อการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

  • ผลลัพธ์จากเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วสามารถคลาดเคลื่อนได้ (+/- จากค่าที่แสดงประมาณ 2–4%)
  • เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วสามารถแสดงผลได้ระหว่าง 70–100% หากต่ำหรือเกินกว่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่าอุปกรณ์ชำรุดหรือไม่ได้มาตรฐาน
  • ปัจจุบันมีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วที่ไม่ได้มาตรฐานจำหน่าย ทั้งตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ ควรเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองจากอย. ที่จำหน่ายตามร้านขายยา โรงพยาบาล และร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้
  • เมื่ออุปกรณ์สกปรก ควรใช้ผ้าเปียกบิดหมาด ทิชชู่เปียก หรือแผ่นเช็ดแอลกกอฮอล์เช็ดอุปกรณ์ 
  • ระดับออกซิเจนต่ำไม่ได้หมายถึงการมีโรคร้ายแรงหรืออยู่ในภาวะฉุกเฉินเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อระดับออกซิเจนในเลือดได้เช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วอย่างถูกต้องที่ทุกคนทำตามได้เองที่บ้าน นอกจากระดับออกซิเจนที่แสดงผลบนตัวเครื่องแล้ว หากพบกับอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำและออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำ เช่น ปากม่วง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นรัว เวียนหัว หายใจไม่ออก และเป็นลม ควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว